
"งูจู๋" หรือ "เขียดงู" จากอเมริกาใต้ โผล่คลองในรัฐฟลอริดา
นักชีววิทยาพบ เขียดงู (caecilian) วงศ์พื้นถิ่นจากอเมริกาใต้ ในคลอง ใกล้สนามบินนานาชาติไมอามี ส่อเป็นสัตว์รุกรานต่างถิ่นอีกชนิดในรัฐฟลอริดา
โคลแมน ชีไฮ ผู้จัดการฝ่ายสัตววิทยาแขนงสัตว์เลื้อยคลานของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดา กล่าวว่า นักชีววิทยาคณะกรรมการสัตว์ป่าและประมงฟลอริดา จับเขียดงู ความยาวประมาณ 60 ซม. ได้ครั้งแรกในน้ำตื้น ขณะออกสำรวจคลอง Tamiami ห่างจากสนามบินนานาชาติไมอามีประมาณ 1 กม. เมื่อ 2 ปีก่อน พอมันตาย ได้ส่งตัวอย่างไปตรวจสอบดีเอ็นเอพบว่า เป็นเขียดงูชนิด Rio Cauca หรือ Typhlonectes natans สัตว์พื้นถิ่นจากโคลอมเบียและเวเนซุเอลา จากนั้น ได้รับรายงานการพบเขียดงูในแหล่งน้ำอีกหลายครั้ง
แม้รูปลักษณ์เหมือนงูหรือปลาไหล แต่เขียดงู หรือที่เรียกกันเล่นๆว่า งูจู๋ ( pennis snake) เพราะรูปร่างคล้ายอวัยวะเพศชาย เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ใกล้กับกบ คางคก ซาลามานเดอร์ และจิ้งเหลน มีขนาดตั้งแต่ไม่กี่เซนติเมตร จนถึง 1.5 เมตร ชื่อของมันในภาษาละติน caecus แปลว่า ตาบอด เพราะตาเล็กมากหรือไม่มีตาเลย มีหนวดรับรู้ความรู้สึก 1 คู่ระหว่างตากับจมูก ใช้ตรวจจับหาอาหาร และมีฟันแหลมเหมือนเข็มหลายสิบซี่ อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและน้ำจืด กินหนอนและปลวกเป็นอาหาร และคาดว่าเป็นผู้ล่าที่จับสัตว์เล็กๆอย่างกบและจิ้งจกเป็นอาหารได้ด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศท้องถิ่น
ชีไฮ กล่าวว่า ยังมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ในธรรมชาติน้อยมาก แต่ไม่ใช่สัตว์อันตรายกับคน และไม่ใช่ผู้ล่าชัดเจน น่าจะกินสัตว์เล็ก และถูกสัตว์ใหญ่กว่ากิน “นี่อาจเป็นสัตว์นอกถิ่นอีกชนิดที่เข้าไปในเซาท์ ฟลอริดา” ณ เวลานี้ ยังบอกไม่ได้ว่า มีเขียดงูอยู่ในคลองมากน้อยแค่ไหน นักวิจัยจะทำการสำรวจเพื่อประเมินประชากรต่อไป
ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจากอเมริกาใต้ชนิดนี้ไปโผล่ในเซาท์ฟลอริดาได้อย่างไร แต่เขียดงู ได้รับอนุญาตให้ซื้อเป็นสัตว์เลี้ยงได้ โดยพันธุ์ Typhlonectes natans ได้รับความนิยมมากที่สุด และเป็นชนิดเดียวกับที่พบในคลอง จึงสันนิษฐานว่าคนเลี้ยงอาจปล่อยสัตว์ที่ไม่ต้องการแล้วลงแหล่งน้ำก็เป็นได้