ระวังกรดไหลย้อนในทารก ทำลูกกินน้อยโตช้า
คุณแม่รู้ไหม? ลูกน้อยวัยเบบี๋ก็เป็นกรดไหลย้อนได้ แถมเป็นแล้วยังทำให้ลูกแหวะนม อาเจียน และกินได้น้อย ส่งผลเสียต่อพัฒนาการและสุขภาพลูกน้อย
ทำไมเด็กเล็กจึงเป็นกรดไหลย้อน ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีออกมาบอกว่า เด็กทารกส่วนใหญ่เป็นกรดไหลย้อนได้มากถึง 25 คนจากทั้งหมด 100 คน เรียกว่าเป็นกันเยอะมากและสาเหตุที่ทำให้ลูกเบบี๋ป่วยด้วยโรคนี้เพราะลูกทารกยังมีการทำงานของกระเพาะอาหารที่ไม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวได้ช้า หูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายที่ต่อกับกระเพาะก็ยังไม่แข็งแรง แถมที่สำคัญลูกทารกก็มักจะกินนมในท่านอน ทำให้นมและกรดไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารทำให้ลูกมีอาการต่างๆ นั่นเอง
อาการกรดไหลย้อนเด็กทารก
* คลื่นไส้อาเจียน แหวะนม หลังกินนม
* กระสับกระส่ายหลังกินนม ดูอึดอัด ไม่สบายท้อง
* ลูกนอนไม่หลับ ร้องงอแง หรือร้องไห้มากหลังกินนม
* ลูกกินนมได้น้อยลงหากมีหลอดลมอักเสบ
* น้ำหนักลูกไม่ค่อยขึ้นในช่วงที่ป่วย ยิ่งปล่อยไว้ลูกอาจมีอาการเรื้อรังลุกลามจนมีอันตรายรุนแรงได้
ป้องกันไม่ให้ลูกป่วยโรคกรดไหลย้อน ด้วยวิธีการต่างๆ นั่นคือ
* คุณแม่หมั่นอุ้มลูกให้เรอทุกครั้งหลังกินนม ด้วยการอุ้มพาดบ่า อุ้มให้ศีรษะลูกสูงกว่าลำตัว
* ปรับท่าทางในการให้นมแม่ พยายามให้ลูกกินนมแม่ในท่าที่ศีรษะลูกสูงขึ้น อุ้มตัวตรงขึ้น
* อย่าให้ลูกกินนมแล้วนอนราบทันที โดยควรอุ้มลูกให้ศีรษะตั้งขึ้นประมาณ 30 องศา เพื่อไม่ให้นมไหลย้อนกลับ แล้วน้ำนมสามารถไหลผ่านไปได้ดี
* ใช้ตัวช่วยหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันกรดไหลย้อนในเด็ก เช่น หมอนหรือที่นอนกันกรดไหลย้อน เตียงนอนปรับระดับกันกรดไหลย้อน โดยก่อนเลือกซื้อควรพิจารณาว่าใช้งานได้จริงและปลอดภัย