ข่าว

โพสต์ไวรัล "แม่ประนอมสอนไทย" ฟาดกลับ แซบ หรือ แซ่บ กันแน่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โพสต์ไวรัล "แม่ประนอมสอนไทย" ฟาดกลับ แซบ หรือ แซ่บ ใช้แบบไหนกันแน่ เพจ"คำไทย" งัดพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตราชยสถาน โชว์คำถูกต้อง

จากกรณีที่โพสต์ของเพจ แม่ประนอม Maepranom ได้โพสต์เรื่องของอาหาร และปรากฎคำว่า "แซ่บ" ในข้อความ จากนั้นมีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่ง เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า "แซบ ไม่มีไม้เอกนะคะ" จนเป็นที่มาทำให้ เพจแม่ประนอม เข้ามาตอบกลับ พร้อมแคปภาพ จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา ที่ค้นหาคำว่า "แซ่บ" จนกลายเป็นโพสต์ไวรัล ที่มีคนแชร์ พร้อมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก

 

โพสต์ไวรัล "แม่ประนอมสอนไทย" ฟาดกลับ แซบ หรือ แซ่บ กันแน่

 

ขณะที่ล่าสุด เพจคำไทย ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นที่น่าสนใจ ที่กำลังพูดถึงบนโลกโซเชียลว่า ตกลงแล้วคำนี้สะกดว่า "แซ่บ" หรือ "แซบ" กันแน่ ถ้าเอาตอบสั้น ๆ ก็คือ ที่ถูกต้อง ต้องเป็นคำว่า "แซ่บ" เป็นคำถิ่นภาคอีสาน แปลว่า "อร่อย" จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๔ (เล่มล่าสุด)

แล้วรูปบางคนที่แคปเจอร์มา ว่าพจนานุกรมเขียนว่า "แซบ" นะ เขาไปเอามาจากไหน ขอบอกว่า ก็เอามาจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อีกนั่นแหละ แต่เป็นคนละฉบับคนละปี ปัจจุบัน คำว่า "แซ่บ" สะกดแบบมีไม้เอก แต่ในอดีตสะกดว่า "แซบ" ไม่มีไม้เอก

 

แอดมินก็ลองไปค้นหาไฟล์พจนานุกรม เพื่อจะดูคำนี้ว่าสะกดแบบไหนกันแน่ และเปลี่ยนแปลงในฉบับไหน แอดมินเจอ 3 ปี ของปี 2493 2542 และ 2554 (ปี 2525 หาไม่เจอ แต่ก็เดาไม่ยาก)

 

โพสต์ไวรัล "แม่ประนอมสอนไทย" ฟาดกลับ แซบ หรือ แซ่บ กันแน่

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีทั้งสิ้น 4 ฉบับ

ปี 2493 สะกดว่า "แซบ" (ไม่มีไม้เอก)

ปี 2525 สะกดว่า "แซบ" (ไม่มีไม้เอก)

ปี 2542 สะกดว่า "แซบ" (ไม่มีไม้เอก)

ปี 2554 สะกดว่า "แซ่บ" (มีไม้เอก)

จะเห็นได้ว่า คำเริ่มมาเปลี่ยน หรืออัปเดตใหม่มาเป็น "แซ่บ" (แบบมีไม้เอก) ในฉบับ พุทธศักราช 2554 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ที่เหลือ 3 ฉบับในอดีต สะกดว่า "แซบ" (แบบไม่มีไม้เอก)

คำถามคือ แล้วจะยึดตามพจนานุกรมฉบับไหนเป็นมาตรฐาน คำตอบคือ ให้ยึดตามพจนานุกรมฉบับล่าสุด ก็คือ ปี 2554 เพราะเป็นพจนานุกรมที่มีการชำระเล่มล่าสุด

อักขรวิธีไทยกำหนดไว้ว่า ถ้าพยัญชนะต้นเป็นอักษรต่ำมีสระเสียงยาว และตัวสะกดเป็นคำตาย จะเป็นเสียงโทได้ทันที โดยไม่ต้องมีรูปวรรณยุกต์กำกับ เช่น งาก แต่ถ้าเป็นสระสั้น ต้องใช้รูปวรรณยุกต์เอกกำกับ เพื่อให้เป็นเสียงโท เช่น งั่ก

หลักเกณฑ์นี้ปรากฏอยู่ในตำราภาษาไทยหลายเล่ม นับแต่ พ.ศ. 2461 เป็นต้นมา เช่น หลักภาษาไทย ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร มีตัวอย่างคือคำว่า คั่ก (พระยาอุปกิตศิลปสาร, 2533 : 15) ลักษณะภาษาไทย ของ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา มีตัวอย่างคือคำว่า งั่ก (บรรจบ พันธุเมธา, 2559 : 36) บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 1 ของ กระทรวงศึกษาธิการ มีตัวอย่างคือคำว่า คึ่ก (สถาบันภาษาไทย, 2545 : 82)

คำว่า "แซ่บ" คำนี้ภาษาไทยมาตรฐาน ซึ่งมีที่มาจากภาษาถิ่นออกเสียงสั้น (เปรียบเทียบกับเสียงยาวในคำว่า แสบ) แสดงว่า คำนี้มาจาก ซ + สระแอะ + บ ไม่ใช่ ซ + สระแอ + บ จึงใส่รูปวรรณยุกต์เอกได้เช่นเดียวกับที่ ค + สระอะ + ก กลายเป็น คั่ก ง + สระอะ + ก กลายเป็น งั่ก และ ค + สระอึ + กลายเป็น คึ่ก

ในอักขรวิธีไทยมีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงเสียงสั้นยาวอยู่หลายคู่ เช่น

๏ ก+อา+น=กาน (เสียงยาว)

๏ ก+อะ+ น=กัน (เปลี่ยนอะเป็นไม้หันอากาศ)

๏ ปร+ เอ+ต=เปรต (เสียงยาว)

๏ ป+ เอะ+ด=เป็ด (เปลี่ยนเอะเป็นเ+ไม้ไต่คู้)

๏ ท+แอ+ก=แทก (เสียงยาว)

๏ ท+แอะ+ก=แท็ก (เปลี่ยนแอะเป็นแ+ไม้ไต่คู้)

๏ ก + โอ + น=โกน (เสียงยาว)

๏ ก + โอะ + น =กน (สระโอะหายไป กลายเป็นสระโอะลดรูป)

สระที่ไม่มีการเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงเสียงสั้นยาวก็มีอยู่มาก เจ้าของภาษาเท่านั้นที่จะรู้ว่า คำใดออกเสียงสั้น คำใดออกเสียงยาว เช่น

๏ ก+เอ+ง=เกง (เสียงยาว)

๏ ก+เอะ+ง=เก่ง (เสียงสั้น)

๏ ด + เออ + น = เดิน (เสียงยาว)

๏ ง + เออะ + น = เงิน (เสียงสั้น)

๏ จ + ออ + น = จอน (เสียงยาว)

๏ จ + เอาะ + น= จ้อน (เสียงสั้น)

คำประเภทนี้เคยมีรูปไม้ไต่คู้กำกับ เพื่อบอกเสียงสั้น ดังตัวอย่างที่ปรากฏในพจนานุกรม สัพะ พะจะ นะ พาสาไท ตำรา แบบเรียนเร็ว และ พจนานุกรม (ร.ศ. 120 )

พจนานุกรม สัพะ พะจะนะ พาสาไท (ปัลเลอกัวซ์, 2542 : 260) มีคำว่า เก่ง ซึ่งมี เครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับเพื่อแสดงเสียงสั้น เปรียบเทียบกับคำว่า เก้ง ซึ่งเป็นเสียงยาว

ตำรา แบบเรียนเร็ว ฉบับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เขียนคำว่า เดิน เป็น เดีน และเขียนคำว่าเงิน เป็น เงีน โดยมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับให้รู้ว่าเป็นเสียงสั้น

พจนานุกรม (ร.ศ. 120) ฉบับกรมศึกษาธิการ เขียนคำว่า จ่อนจ่อ กับ จ้อน โดยมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้กำกับเพื่อแสดงเสียงสั้น (กรมวิชาการ, 2541 : 88)

คำเหล่านี้ในสมัยต่อมา ได้ตัดเครื่องหมายไม้ไต่คู้ออกไป รูปการเขียนจึงไม่สามารถแสดงความแตกต่างระหว่างเสียงสั้นกับเสียงยาวได้ แต่เจ้าของภาษาจะรู้ได้ เพราะเคยได้ยินสืบเนื่องกันมา

ส่วนคำบางคำมีเครื่องหมายไม้ไต่คู้เข้ามาช่วยบอกเสียงสั้นโดยตรง เช่น

๏ ล + สระออ + ก = ลอก (เสียงยาว)

๏ ล + สระเอาะ + ก = ล็อก (เสียงสั้น)

คำอื่น ๆ ในทำนองนี้ยังมีอีกหลายคำ เช่น ง่อกแง่ก แซ่ด ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก เลิ่กลั่ก ว่อกแว่ก

เมื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของรูปการเขียนที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ฉบับ พ.ศ. 2493 จนถึง ฉบับ พ.ศ. 2554 จะเป็นดังนี้

๏ ปี 2493 เก็บคำไว้ว่า งอกแงก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ล่อกแล่ก วอกแวก

๏ ปี 2525 เก็บคำไว้ว่า งอกแงก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ลอกแลก เลิ่กลั่ก วอกแวก

๏ ปี 2542 เก็บคำไว้ว่า ง่อกแง่ก แซด แซบ ม่อลอกม่อแลก ลอกแลก เลิ่กลั่ก วอกแวก

๏ ปี 2554 เก็บคำไว้ว่า ง่อกแง่ก แซ่ด แซ่บ ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก เลิ่กลั่ก ว่อกแว่ก

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เก็บคำว่า ล่อกแล่ก ซึ่งมีรูปวรรณยุกต์เอกไว้แล้ว ส่วนคำว่า เลิ่กลั่ก ยังไม่ได้เก็บไว้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ถอดรูปวรรณยุกต์เอกออกจากคำว่า ลอกแลก และเพิ่มคำว่า เลิ่กลั่ก เข้ามา พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 เพิ่มรูปวรรณยุกต์เอกลงในคำว่า ง่อกแง่ก และในท้ายที่สุด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็เก็บคำตามอักขรวิธีไทยที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น โดยเพิ่มรูปวรรณยุกต์เอกลงในคำว่า แซ่ด แซ่บ ม่อล่อกม่อแล่ก ล่อกแล่ก และ ว่อกแว่ก เพราะคำเหล่านี้ ล้วนแต่ออกเสียงสั้น และสามารถเขียนได้ตามอักขรวิธีไทย

 

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้มิได้ใช้กับคำทับศัพท์ ซึ่งราชบัณฑิตยสภายึดถือตามที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเสนอในที่ประชุมครั้งที่ 9/2505 เรื่องการเขียน ภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ว่า

"…การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำใน ประโยค จึงไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับ"(พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, 2534 : 15)

ส่วนคำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น เริ่ด แร่ด หล่ะ แหล่ะ อ่ะ ป่ะ ห่ะ นั้น มีที่เขียนถูกต้องตามอักขรวิธี เพียง 2 คำ คือ เริ่ด กับ แร่ด คำว่า เริ่ด ที่หมายถึง "สวยหรูและดูเด่นเลอเลิศ มักมีลักษณะเกิน พอดี" ไม่ออกเสียงยาวเหมือนกับคำว่า เลิศ ส่วน แร่ด ที่หมายถึง "ประพฤติตัวประเจิดประเจ้อและ เหลวแหลกในทางชู้สาว" ก็ไม่ได้ออกเสียงยาวเหมือนกับคำว่า แรด ที่เป็นชื่อสัตว์ จึงน่าจะเป็นคนละคำกัน คำอย่าง เริ่ด และ แร่ด อาจจะเก็บไว้ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสภา ต่อไปในอนาคต ในฐานะภาษาปาก แต่คำอย่าง หล่ะ แหล่ะ อ่ะ ป่ะ ห่ะ คงไม่เก็บเพราะไม่เป็นไปตามอักขรวิธีไทยปัจจุบัน

บรรณานุกรม

(1) นิตยา กาญจนะวรรณ. 2563 การใช้รูปวรรณยุกต์เอกในคำ แซ่บ กับ แซ่ด. https://bit.ly/2X67okx. (สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2564).

(2) กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2541. พจนานุกรม (ร.ศ. 120) ฉบับกรมศึกษาธิการ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา.

(3) ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. 2542. แบบเรียนเร็ว เล่ม 1, 2, 3 กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.

(4) นราธิปพงศ์ประพันธ์, พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น.2534. พระอัจฉริยลักษณ์ด้าน ภาษาศาสตร์ กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

(5) บรรจบพันธุเมธา. 2559 ลักษณะภาษาไทย.พิมพ์ครั้งที่ 22.กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง .

(6) ราชบัณฑิตยสถาน. 2493. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัท คณะช่าง จากัด.

(7) ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

(8) ราชบัณฑิตยสถาน. 2546. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์.

(9) ราชบัณฑิตยสถาน. 2556. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

(10) สถาบันภาษาไทย. 2545. บรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สถาบัน ภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.

(11) อุปกิตศิลปสาร, พระยา. 2533. หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

(12) ปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix). 2542. สัพะ พะจะนะ พาสาไท. สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระ ทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ.

 

ที่มา: เพจคำไทย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ