ข่าว

แชตสุดท้าย 'หมอแอ้ม' สู้จนลมหายใจสุดท้าย น้องชายเศร้า "โควิด-19" คร่าครอบครัว 3 ชีวิต

แชตสุดท้าย 'หมอแอ้ม' สู้จนลมหายใจสุดท้าย น้องชายเศร้า "โควิด-19" คร่าครอบครัว 3 ชีวิต

13 ส.ค. 2564

เปิดแชตสุดท้าย 'หมอแอ้ม' นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิงสรัญยา ฬาพานิช สู้จนลมหายใจสุดท้าย น้องชายเศร้า "โควิด-19" คร่าครอบครัว 3 ชีวิต

เปิดแชตสุดท้าย 'หมอแอ้ม' นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิงสรัญยา ฬาพานิช แพทย์โรงพยาบาลภูมิพลที่เสียชีวิตจาก "โควิด-19" ทั้งที่ฉีด "วัคซีนโควิด" "ซิโนแวค" ครบ 2 เข็ม ด้าน หมอเตี๋ยว น้องชายก็ได้โพสต์สะท้อนเรื่องราวที่สะเทือนใจและจี้หาทางออกการนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ

 

 

 

 

 

ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของ 'หมอแอ้ม' นาวาอากาศเอกหญิง แพทย์หญิงสรัญยา ฬาพานิช ได้สูญเสียคุณแม่จาก "โควิด-19" เมื่อ 25 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา เท่านั้นยังไม่พอ ยังสูญเสียคุณพ่อซ้ำเมื่อ 31 ก.ค.2564 ที่ผ่านมาจาก "โควิด" เช่นกัน 

 

นอกจากนี้มีการเปิดเผยแชตสุดท้ายของ 'หมอแอ้ม' ในไลน์โดยคุณหมอบอกว่า "วันนี้เค้า treat PCP เพิ่มไปนะคะ PCP = ติดเชื้อที่ปอดแต่ไม่รุนแรง ถ้ามี PCP จะทำให้ O2 มันจะ drop เยอะ แบบที่พี่แอ้มเป็นเดาว่า chest กลัวมีซ่อนอยู่ เลย treat cover ไปเลย PCP ชอบเจอในคนที่ immunocompromised แต่ไม่รุนแรงแบบ bacterial และไม่ใช่ hospital-acquired และไม่ใช่ดื้อยา รักษาไม่ยาก คิดว่าน่าจะให้ bactrim น้องเด้นท์บอกว่า treat คู่กับ tx อื่นๆไปก่อน"

 

หมอแอ้ม ยังบอกด้วยว่า "ฉันต้องหาย ฉันจะไม่ยอมตาย" แต่สุดท้ายคุณหมอก็ต้องเสียชีวิตจากโควิด-19 ท่ามกลางความเสียใจของครอบครัวและเพื่อนๆ 

 

แชตสุดท้าย \'หมอแอ้ม\' สู้จนลมหายใจสุดท้าย น้องชายเศร้า \"โควิด-19\" คร่าครอบครัว 3 ชีวิต

 

ขณะที่ นายแพทย์สิทธิพงศ์ ฬาพานิช หรือ หมอเตี๋ยว ซึ่งเป็นน้องชายของ"หมอแอ้ม" ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กสะท้อนเรื่องราวที่สะเทือนใจ และจี้หาทางออกการนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพว่า เคสพี่สาวผมเป็นเเพทย์ที่เเม้จะฉีดวัคซีนไปแล้ว ก็ยังติดเชื้อโควิดและเสียชีวิต

 

ครอบครัวเราเสียชีวิตจากโควิดตอนนี้ 3 ชีวิตครับ คือคุณแม่ เมื่อ 25/7 คุณพ่อ 31/7 แล้วก็พี่สาว เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.2564) ผมคิดว่าผมมีสิทธิที่จะพูดความรู้สึกและความต้องการที่เห็นสถานการณ์โควิดในประเทศปัจจุบันนี้ ผมเองไม่อยากจะโทษวัคซีนใด ๆ ว่าดีหรือไม่ดี เพราะหลายยี่ห้อ ฉีดครบก็มีเสียชีวิตครับ

 

แต่โดยหลักทางวิชาการที่ยอมรับในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกนั้น ชนิด mRNA น่าจะเป็นคำตอบที่ดีในเบื้องต้นนี้ครับและเเม้ว่าวัคซีนที่น่าจะครอบคลุมทุกเชื้อ น่าจะเป็นล็อตของปีหน้า แต่เรารอเเบบนั้นไม่ได้นะครับ เราต้องมีวัคซีนที่มาตรฐานจำนวนมากกว่าที่มีตอนนี้ครับ

 

 

ปัญหาของเราคือ "กฎที่ออกว่า ใครจะซื้อต้องผ่านหน่วยงานรัฐ" ผมเองไม่มั่นใจในเรื่องกฎหมายเท่าไรนัก แต่ผมคิดว่า ถ้าเราสามารถออกกฎแบบที่ ราชกิจจานุเบกษา ที่ให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นำเข้าได้ ก็น่าจะออกให้บรรดาโรงพยาบาลเอกชน หรือ องค์กรเอกชน สามารถนำเข้าได้

 

ถ้าไม่เชื่อใจโรงพยาบาลเอกชนที่ใด ก็ผ่านตัวสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ก็น่าจะเป็นสมาคมใหญ่ในระดับที่น่าเชื่อถือได้นะครับ การนำเข้าวัคซีนที่ยอมรับในต่างประเทศมามากที่สุด เท่าที่ทำได้ ในทุก ๆ ทาง โดยไม่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ผ่านหน่วยงานรัฐ น่าจะอนุโลมให้ใช้ในสถานการณ์ ที่คนไทยได้ฉีดวัคซีนเพียง 25% (นี่คือรวมเชื้อตาย และ mRNA) ของประชากร เพราะวัคซีนยิ่งเยอะ (โดยเฉพาะพวก mRNA และ Subunit Protein) มันก็จะยิ่งดีไม่ใช่หรือครับ

 

มันน่าจะถึงเวลาที่เราควรแก้บางกฎ เพื่อให้คนไทยได้วัคซีน "ที่มาตรฐาน" ที่จะพอป้องกันตัวเองได้ อย่างน้อย เราก็พอมองเห็นทางสว่างข้างหน้าครับ

 

ผมเชื่อว่า ถ้าออกกฎที่แก้ได้ จะมีบริษัท หรือ โรงพยาบาลมากมาย หรือแม้แต่หน่วยงานใด ๆ ที่จะยินดีติดต่อเอง และเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเสียเวลามามากเกินไปแล้วครับ กับคำว่ารอ วัคซีนที่มาตรฐาน ครับ เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ นำเข้าวัคซีนเองเถอะครับ มีมากดีกว่ามีไม่พอนะครับ