"วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย" ฟันธงมาตรการ'ล็อกดาวน์'ใช้ไม่ได้ผล ถ้าไม่ปูพรมตรวจวัดและแยกตัว
ราชบัณฑิต ผอ.สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย "ชี้ มาตรการ'ล็อกดาวน์'ใช้ไม่ได้ผล ถ้าไม่ปูพรมตรวจวัดและแยกตัว การคาดเดาผู้ติดเชื้อรายวัน 40,000-50,000 หรือมากถึง 100,000 รายต่อวัน เป็นไปได้
ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก
13 สิงหาคม 2564
มาตรการ"ล็อกดาวน์"ใช้ไม่ได้ผล ถ้าไม่ปูพรมตรวจวัดและแยกตัว
"การเร่งตรวจวัดเชื้ออาจทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นและดูไม่ดีในวันนี้ แต่จะมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วและดูดีมากในอนาคต"
(1) จากการแถลงข่าวของ ศบค.“ถ้าล็อกดาวน์แบบมีประสิทธิภาพ 20 เปอร์เซ็นต์ เหมือนที่เป็นอยู่ จะมีผู้ติดเชื้อประมาณ 45,000 คน เสียชีวิตประมาณวันละ 500 คน”
ในความเห็นผม ในสภาวะที่การติดเชื้อแผ่กระจายไปทั่วประเทศ ประสิทธิผลของการ"ล็อกดาวน์"แบบที่เป็นอยู่แทบไม่มี แม้จะล็อกต่อไปอีก 2-3 ปีก็คงจะไม่ได้ผล
(เคยตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ตัวเลขค่อยๆขยับจาก 10,000, 12,000, 15,000, 20,000 และกำลังจะเข้าสู่ระดับ 25,000 ด้วยอัตราขยายตัว 1.2-1.3 ในคาบ 5 วัน ดังแสดงในตารางภาพ)
(2) การล็อกดาวน์จะได้ผล ก็ต่อเมื่อมีความพยายามในการลดจำนวน”ผู้ติดเชื้อเงียบ” (ผู้ติดเชื้อที่ปะปนเงียบๆอยู่ในสังคมโดยไม่มีอาการ ที่มีเพิ่มขึ้นวันละกว่าแสนรายดังในตารางภาพ)
วิธีการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเงียบ คือ การปูพรมตรวจเชื้อโควิดอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อเงียบและแยกกักกันไว้ นั่นคือ การตัดวงจรการแพร่เชื้อที่ต้นตอ
(3) การคาดเดาว่า ผู้ติดเชื้อรายวันจะอยู่ที่ 40,000-50,000 หรือ มากถึง 100,000 รายต่อวัน ล้วนเป็นสิ่งที่พูดได้และเป็นไปได้ (ดูภาพ ) ตราบใดที่การระบาดยังอยู่ในกราฟขาขึ้น และยังไม่ถึงจุดหักเห (inflection Point) เพดานคือ เมื่อประชากรทั้งประเทศติดเชื้อหมดนั่นเอง (ดังนั้น เราจึงต้องการวัคซีนในการลดเพดานนี้)
(4) สถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดในวันนี้ ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว จาก 2 ปัจจัยที่ได้เกิดแล้วเมื่อ 5-7 วันที่แล้ว (5-7 วันคือระยะเวลาที่เชื้อฟักตัว) ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อเงียบ และอัตราในการแพร่เชื้อ (R) ดังนั้นการคำนวณพยากรณ์ผู้ติดเชื้อจึงสามารถทำได้ค่อนข้างใกล้เคียงเป็นรายสัปดาห์ต่อสัปดาห์
(5) คำถามยอดฮิตสำหรับคนไทย คือ ตัวเลขใกล้จะถึงยอดหรือยัง วิธีสังเกตคือ การสังเกตหาจุดหักเห (Inflection Point) ของกราฟผู้ติดเชื้อสะสม ดังแสดงในภาพ กรณีของอินเดีย อินโดนิเซีย และสหราชอาณาจักร ทุกกราฟจะยืนยันว่า จุดยอดของกราฟผู้ติดเชื้อรายวันจะตรงกับจุดหักเห (Inflection Point) ในกราฟผู้ติดเชื้อสะสม
(6) กราฟผู้ติดเชื้อสะสมและรายวันของประเทศไทย ถึงวันที่ 13 สิงหาคม ได้แสดงไว้ในภาพจะเห็นว่า กราฟชักจะมีแววว่า จะเกิดจุดหักเหในไม่ช้า (ยกเว้นแต่จะเกิดจากข้อมูลลวง)
(7) เป็นภาพที่น่าสนใจมาก เปรียบเทียบกราฟผู้ติดเชื้อรายวันต่อประชากร 1 ล้านคนเท่ากันระหว่างไทยกับอินโดนิเซีย ผมจึงถือโอกาสฝากไปขอทาง ศบค.ให้ช่วยตรวจสอบว่า รัฐบาลอินโดนิเซียใช้มาตรการอะไรในการกดให้กราฟหักหัวลงได้อย่างน่าอัศจรรย์
หมายเหตุ ก่อนจบโพสต์นี้ ผมขอชื่นชม ”ชมรมแพทย์ชนบท” อีกครั้ง ในการจุดประกายมาตรการเชิงรุก “ปูพรมตรวจวัดเชื้อโควิด” โดยใช้ Antigen Test Kit (ATK) และเพียงเวลารวม 13 วัน สามารถค้นหาผู้ติดเชื้อเงียบได้ถึง 15,562 ราย เป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อในอนาคตได้ประมาณ 1.2 เท่า (ค่า R)
และเป็นที่น่ายินดีว่าหลังจากนั้น กลุ่ม ปตท.เช่นกันก็ได้ประกาศให้บริการ "ตรวจวัดเชื้อโควิด" เชิงรุกให้แก่ประชาชน ตามแนวทาง “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” โดยใช้ ATK พร้อมเตรียมเตียงในโรงพยาบาลสนามไว้รองรับด้วย
ผมจึงถือโอกาสเชิญชวนบริษัทมหาชนอื่นๆ ได้ตามอย่างกลุ่ม ปตท. เข้ามาช่วยชาติ ช่วยประชาชน โดยการให้บริการปูพรมตรวจวัดเชื้อโควิดเชิงรุก โดยเลือกชุมชนสุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อเงียบ และหวังว่า ฝ่ายรัฐเองจะตอบสนองในจิตอาสาของภาคเอกชนด้วยอนุโมทนาจิตครับ