สุดเจ๋ง จุฬาฯ คิดค้น "เครื่องตรวจเหงื่อหาเชื้อโควิด" รู้ผลไวใน 30 วินาที
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สุดเจ๋ง คิดค้น "เครื่องตรวจเหงื่อหาเชื้อโควิด" รู้ผลไวใน 30 วินาที ทดลองใช้แล้วในแหล่งชุมชน
หลังจากประสบความสำเร็จในโครงการ "สุนัขดมโควิด-19" ที่ใช้สุนัขดมกลิ่น ตรวจเหงื่อเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการในชุมชนไปแล้ว สำหรับความร่วมมือระหว่าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทเชฟรอนประเทศไทย ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กำลังศึกษาวิจัยนวัตกรรมล่าสุด คือ "เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพา" (Portable sweat test for COVID detection) หวังเสริมทัพสุนัขดมกลิ่น ในการเร่งตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กล่าวว่า จากการศึกษาสารตัวอย่าง พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีสารเคมีบางชนิดที่ชัดเจนมาก และแปลกไปจากสารอื่น ๆ จึงนำข้อค้นพบนี้ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจกลิ่น ที่น่าจะมาจากสารอะโรมาติก ที่ผลิตจากแบคทีเรียบางชนิดในเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 จากสารเคมีเหล่านี้
ผศ.ดร.ชฎิล เล่าขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อ เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 ว่า เครื่องมือที่ใช้ พัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดทางเคมีวิเคราะห์แบบพกพา ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ประกอบด้วย ขวดแก้ว และแท่งสำลี ซึ่งผู้ตรวจคัดกรองจะได้รับกันคนละชุด เวลาตรวจก็นำแท่งสำลีไปหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้รับการตรวจ ทิ้งแท่งสำลีไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้น นำแท่งสำลีที่ดูดซับเหงื่อแล้วมาใส่ในขวดแก้ว ฆ่าเชื้อขวดแก้วด้วยรังสี UV ก่อนนำมาตรวจวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้สายดูดตัวอย่างในปริมาณที่เหมาะสม และใช้ความดันอัดเข้าไปในเครื่องตรวจเพื่อตรวจสอบผล
จากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบพกพา กับคนจำนวน 2,000 คน พบว่า เมื่อทำการทดลองตรวจกลิ่นเพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 นี้ ควบคู่กับการตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) จะพบว่า ผลการตรวจสอดคล้องสัมพันธ์กันโดยมีความไว 95% และความจำเพาะถึง 98% แต่แนะนำว่า หากเครื่องตรวจกลิ่นแสดงผลเป็นบวก ผู้รับการตรวจก็ควรไปตรวจแบบ PCR เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนอีกที
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพายังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่ก็ได้ทดลองใช้งานจริงแล้ว โดยทางจุฬาฯ ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานภาครัฐ เข้าไปตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในแหล่งชุมชนต่าง ๆ และยังทำงานร่วมกับ "รถดมไว" เพื่อช่วยตรวจคัดกรองแทนสุนัขดมกลิ่น ในช่วงที่สุนัขพักเหนื่อยได้อีกด้วย นอกจากนี้ ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีการนี้ คือ สามารถนำมาดัดแปลง เพื่อตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ได้
ที่มา : คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
BIZPrompt