"ATK" เจ้าปัญหา "ดร.มานะ" ชี้ โกงหรือไม่ ใครพลาด ใครผิด ตรวจสอบยาก
"ATK" เจ้าปัญหา "เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)" ตอบ 8 ข้อ ชี้ โกงหรือไม่ ใครพลาด ใครผิด ตรวจสอบยาก ต่างจากเรือเหาะ ที่ทิ้งหลักฐานชัดเจน
(15 ส.ค.2564) ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ค หัวข้อ "จัดซื้อ ATK: โกงหรือไม่ ใครพลาด ใครผิด" กรณีการจัดซื้อชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด ที่กำลังเป็นที่ครหาอยู่ในขณะนี้ ว่า การจัดซื้อชุดตรวจโควิด ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ผมตอบคำถามนักข่าวไว้ดังนี้
1. ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงได้ไหม
ตอบ: ได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ และมติคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ และระเบียบขององค์การเภสัชฯ เอง
2. ซื้อเฉพาะเจาะจงตามที่ สปสช. เสนอได้หรือไม่
ตอบ: ทำได้ ถ้ามีเหตุผลพิสูจน์ได้ว่าจำเป็น ทุกวันนี้ วงการแพทย์ และหน่วยงานรัฐก็ใช้วิธีนี้อยู่มากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก โดยกำหนดสเปกให้แคบเข้าไว้ กรณีนี้คือเขียนลงไปว่า ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก WHO แต่จะระบุชื่อบริษัท หรือ ยี่ห้อสินค้าไปเลยทำไม่ได้
3. แล้วทำไมไม่กำหนดให้ซื้อสินค้าที่ WHO รับรอง
ตอบ: หลักพื้นฐานคือ อยู่ประเทศไทยก็ต้องเคารพกฎหมายไทย มาตรฐานหน่วยราชการไทย ซึ่งกรณีนี้คือ สำนักงานอาหารและยา หรือ อย. ผลงานที่ผ่านมาถือว่า เป็นที่ยอมรับว่าไม่แพ้ชาติใด แต่ผู้กำหนดนโยบายครั้งนี้ คิดอะไรมากกว่านี้หรือไม่...ไม่ทราบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 3 วันจบขัดแย้ง "Antigen Test Kit" เสนอ 5 โรงพยาบาลทดสอบควบคู่ RT-PCR
- "หมอธีระวัฒน์" ย้ำ ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง จาก 10 กระจายได้ถึง 50 ล้านโดสทันที ใน 3 เดือน
- "ชมรมแพทย์ชนบท" ฮีโร่ สกัดATKไร้คุณภาพ
4. ต้องซื้อแต่ของราคาถูกสุดเท่านั้นหรือ?
ตอบ: กฎหมายบอกว่า ซื้อของคุณภาพ ไม่ถูกสุดก็ได้ โดยดูวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ และข้อจำกัดในช่วงวิกฤตโควิด จะซื้ออะไรนอกจากคิดเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน ของต้องมี และมีมากพอ ยังต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่น ยอมรับของประชาชนด้วย ดั่งกรณีเกิดกระแสข่าววัคซีนบางยี่ห้อด้อยคุณภาพ จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน เวลานี้ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อแต่ของราคาถูกเสียทุกอย่าง การซื้อ ATK จึงอาจใช้ปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวกำหนดว่า การซื้อล็อตแรกที่จำเป็นเร่งด่วนนี้ ให้เลือกซื้อสินค้าที่ WHO รับรองแล้ว เพื่อให้ทุกคนมั่นใจ สบายใจ แล้วครั้งต่อไป ค่อยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมกันใหม่
5. ยกเลิกการประมูลได้ไหม
ตอบ: ทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลชัดเจนดีพอ ไม่อย่างนั้นอาจโดนเอกชนฟ้องร้อง เว้นแต่เอกชนจะยินยอม (ซึ่งยากมาก) และต้องเข้าใจว่า การประมูลของภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตรงไปตรงมา เพื่อรักษาความเชื่อมั่นต่อระบบ และกฎหมายในระยะยาวด้วย
6. ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อใจในสินค้าที่ชนะการประมูล
ตอบ: ทำการสุ่มทดสอบสินค้าให้มาก เชิญสถาบันวิชาการของรัฐ และเอกชนมาร่วมด้วยยิ่งดี, หารายงานวิชาการระดับโลกหลายแหล่งมายืนยัน, กำหนดเงื่อนไขการันตีไว้ในสัญญาซื้อขายเลยว่า หากผลทดสอบหรือเริ่มใช้งานจริง ไม่ได้ผลตามเกณฑ์ที่กำหนดก็ตีคืน ยกเลิกสัญญา ริบเงินค้ำประกัน เรียกค่าปรับ ขึ้นแบล็คลิสท์ ฯลฯ
7. ใครต้องรับผิดชอบหากผิดพลาดเสียหาย
ตอบ: จะจับมือใครดมได้หรือ ถึงเวลาก็อ้างว่า ทำถูกกฎหมายเป็นไปตามขั้นตอนแล้ว ครั้นจะให้ขอโทษประชาชน แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ยอมรับว่า ตัดสินใจบกพร่อง ด้อยประสิทธิภาพในฐานะผู้บริหาร หรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง เรื่องแบบนี้เป็นไปได้ยากในสังคมการเมือง และราชการไทย
8. การจัดซื้อครั้งนี้มีคอร์รัปชันหรือไม่?
ตอบ: ยังไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจน แต่มีข้อสังเกตว่า
ก. การเขียนทีโออาร์ จะเลือกแนวทางเปิด "ประมูลทั่วไป" เพื่อให้คนแข่งขันเยอะ ๆ ให้ได้ของราคาถูก หรือจะใช้วิธี "เฉพาะเจาะจง" เพื่อให้ได้ของดีถูกใจ วิธีไหนสมควรต้องดูเป็นกรณีไป แต่บ่อยครั้งเกิดปัญหาเพราะเบื้องหลังมีการล็อคสเปก หรือสมรู้ร่วมคิดกันแอบแฝงอยู่ ระบบเต็มไปด้วยกติกาให้ใช้ดุลยพินิจ ขาดความโปร่งใส ผู้ใหญ่บางคนจ้องใช้อิทธิพลหาประโยชน์
ข. บางครั้งเมื่อ "ผู้ใหญ่" จงใจทักท้วงว่า "คุณรับผิดชอบได้หรือหากเกิดปัญหา" จึงเป็นการง่าย และปลอดภัยกว่าที่คนทำงานจะเปลี่ยนแนวทางไป
ค. ชุดตรวจ ATK แจกจ่ายกระจัดกระจาย ใช้แล้วโยนทิ้งไป ต่างจากเรือเหาะ และเครื่องตรวจระเบิด GT200 ที่ทิ้งหลักฐานคอร์รัปชัน และความล้มเหลวให้พิสูจน์ย้อนหลังได้ตลอดเวลา
น่าเสียดายที่การจัดซื้อครั้งนี้ไม่ได้ใช้ "ข้อตกลงคุณธรรม" ทำให้พลาดโอกาสแสดงความโปร่งใส แล้วยังพลาดโอกาสที่ตัวแทนภาคประชาชน ผู้ชำนาญธุรกิจยา จะเข้าไปเสนอแนะข้อมูล และแชร์ประสบการณ์ดี ๆคนไทยยังต้องต่อสู้กับโควิดอีกนาน ตั้งหลักให้ดี ร่วมมือกันไว้ อย่ายอมให้ใครโกง
ที่มา : Mana Nimitmongkol