ข่าว

เดินหน้าต่อ "อภ." ยัน จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR

เดินหน้าต่อ "อภ." ยัน จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR

15 ส.ค. 2564

 องค์การเภสัชกรรม ยืนยัน ซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR ที่ สปสช.กำหนด ระบุ รวดเร็ว-โปร่งใส-สมบูรณ์ ทันใช้งานภายใน ส.ค. นี้

นางศิรินุช  ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  เปิดเผยถึงกรณีปัญหา การจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ว่า องค์การฯ ได้ดำเนินการจัดซื้อตามเนื้อหาหลักของ TOR ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.กำหนดมา ซึ่ง TOR ล่าสุด ไม่ได้มีการระบุว่า ต้องเป็นมาตรฐาน WHO ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือของโรงพยาบาลราชวิถี ส่งมาให้องค์การฯ ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 พร้อมได้แนบหนังสือของ สปสช. ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งแนบ TOR ที่ลงนามโดยประธานคณะทำงาน กำหนดอัตราค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาด้วย

 

 

เดินหน้าต่อ \"อภ.\" ยัน จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR
 

นางศิรินุช กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น องค์การฯได้มีการประสานงานกับ สปสช. และโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อปรับในรายละเอียดบางส่วนของ TOR บางประการ เช่น การกำหนดเวลาส่งมอบที่กระชั้นชิด จากเดิมวันส่งมอบ ซึ่งระบุเป็นวันที่ 10 สิงหาคม ได้ปรับเป็นส่งมอบภายใน 14 วัน หลังจากวันลงนามในสัญญา  รวมถึงประเด็นที่ได้รับการทักท้วงจากผู้ขาย และได้ดำเนินการตามความเห็นของ สปสช อาทิ จากเดิมให้ใช้ตัวอย่างตรวจเป็น "Nasal /Nasopharyngeal swab" ได้ปรับเป็น "Nasal swab" หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชุดตรวจ และน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV2 (เชื้อก่อโควิด-19) ฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 10 ปรับค่าจากเดิม "ความจำเพาะ(Specificity) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 97" ได้ปรับเป็น "ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 98"  เพื่อให้ได้ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ของ อย. ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เปิดกว้างในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นไปตามความต้องการตาม TOR ของ สปสช. และโรงพยาบาลราชวิถี

พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก เนื่องจากมีผู้ขายมากกว่า 1 ราย ซึ่งสามารถดำเนินการเร่งด่วนได้เช่นกัน พร้อมกันนั้นได้เร่งส่ง TOR ให้บริษัททั้ง 24 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทตามประกาศของ อย.ในขณะนั้น กำหนดยื่นเสนอเอกสาร และเปิดซองราคาในวันที่ 10 สิงหาคม ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด  
 
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม   กล่าวต่อไปว่า การจัดซื้อ ATK ครั้งนี้ ถ้าหาก สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี พิจารณาเห็นว่า มีผู้ขายเพียงรายเดียว ที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่ต้องการ ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถระบุ ยี่ห้อ และ/หรือบริษัท พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนในการต้องระบุยี่ห้อ มาให้แก่องค์การฯเพื่อจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้  แต่การจัดซื้อครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มีการระบุมาให้ องค์การฯ จึงดำเนินการจัดซื้อตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรม ว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ. 2561  โดยวิธีคัดเลือกเนื่องจากมีผู้ขายหลายราย  ซึ่งสามารถดำเนินการภายในระยะเวลาเร่งด่วนได้เช่นกัน  

รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงว่า โดยในวันเสนอราคา มีบริษัทเข้าร่วมเสนอราคา 19 บริษัท ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 16 บริษัท  และได้ผลิตภัณฑ์ ATK ยี่ห้อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit” ของ บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด โดยผู้แทนจำหน่าย คือ บริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท  

​    

ทั้งนี้ ข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรม ว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ.2561 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม 2561  เป็นหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวกับการพาญิชย์โดยตรง  ที่ออกตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ   ข้อบังคับฯจะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของการซื้อโดยวิธีคัดเลือกไว้ในข้อ 11 และวิธีเฉพาะเจาะจงในข้อ 13 โดยสามารถซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีเป็นพัสดุ เพื่อการผลิตและจำหน่าย ที่จำเป็นต้องซื้อตามความต้องการของลูกค้าตามข้อ 13 (4)