เปิดใจเกษตรกรคนเก่ง เจ้าของรางวัลโครงการ"ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่"
เปิดใจ"เกษตรกร"คนเก่ง เจ้าของรางวัลโครงการ"ฟอร์มเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่" หลัง บริษัท ฟอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.)จัดโครงการขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจอาชีพเกษตร
เปิดใจ"เกษตรกร"คนเก่ง เจ้าของรางวัลโครงการ”ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่”หลังบริษัท ฟอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.)จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจอาชีพเกษตรมากขึ้น โดยมุ่งเป้ากลุ่มเกษตรกรหญิงอายุไม่เกิน 45 ปีที่สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้และสร้างเครือข่ายจนประสบผลสำเร็จ
กมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียน
กมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทยและตลาดอาเซียนกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้”ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ม.ก.ถึงที่มาโครงการ”ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่” โดยระบุว่าฟอร์ดกับเกษตรกรไทยอยู่คู่กันมายาวนาน หลังได้ร่วมทำงานกับสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย(สกท.)จัดทริปลงพื้นที่บ่อยขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
จึงเล็งเห็นว่าเราน่าจะมีการพัฒนาส่งเสริมเกษตรกร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น ประกอบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสังเกตเห็นว่าเริ่มมีผู้หญิงขับรถกระบะมากขึ้น เนื่องจากรถกระบะปัจจุบันมีอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ มากมายเหมาะสำหรับใช้ในการทำงาน
“แนวคิดแรกอยากจะพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับเกษตรกรผู้หญิง จึงได้เข้าไปหารือกับอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ซึ่งก็ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านดีมาก มีการจัดทีมงานทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ท่านจึงแนะนำมาว่าการตัดสินมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกต้องมองหาคนรุน่ใหม่นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ อีกส่วนต้องรู้จักนำผลิตผลทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดทางด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมผลผลิตของเราด้วย”
กมลชนก เผยต่อว่าจากนั้นได้ดำเนินการรับสมัครเกษตรกรที่เป็นผู้หญิงตามคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ โดยเปิดสมัครมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ปรากฎว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
จากนั้นคณะกรรมการฯได้มีการคัดเลือกเหลือ 12 คนสุดท้าย ก่อนได้ผู้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศและรางวัลชมเชยตามลำดับ
“กรรมการตัดสินยากมาก ๆ ผู้สมัครแต่ละท่านเก่งครบเครื่องกันทุกคน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับเงินสด 1 แสนบาท พร้อมมอบรถกระบะฟอร์ดให้ใช้ฟรี 3 เดือน ส่วนรองชนะเลิศ เงินสด 3 หมื่นบาทและรางวัลชมเชย 5 พันบาท โครงการนี้เป็นความตั้งใจของฟอร์ด ประเทศไทยจะเป็นตัวช่วยสำคัญส่งเสริมการทำงานของเกษตรกรและขอเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยด้วย”กมลชนกกล่าวย้ำ
ปนิดา มูลนานัด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน เจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ปนิดา มูลนานัด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน เจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ในฐานะผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ กล่าวถึงแนวคิดการแปรรูปจากกล้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่ม โดยเริ่มจากกล้วยหอมทองของจ.เพชรบุรีล้นตลาดในปี 2561 จึงคิดนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเริ่มจากนำตาก กล้วยอบน้ำผึ้ง แยมกล้วย จากนั้นร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยเซรั่มน้ำจากเปลือกกล้วย เสื้อผ้า กระเป๋าจากใยกล้วย โดยทุกส่วนของกล้วยสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งหมด
“ของเราเป็นซีโร่เวสคือทุกส่วนของกล้วยนำมาใช้ได้หมดไม่มีเหลือทิ้งก็เท่ากับว่าเกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น”ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวาน เผย
เธอย้ำว่าจากนั้นได้ไปเชื่อมโยงทางมหาวิทยาลัยเพื่อทำการวิจัยผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้มีคุณภาพมากขึ้นและสามารถแปรรูปได้ในทุกส่วนของกล้วยตั้งแต่รากจนถึงใบ ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนวัยหวานมีสมาชิกทั้งสิ้น 111 คน โดยจะมีการแบ่งงานกันทำ
พร้อมกระจายไปยังกลุ่มเครือข่ายตามความถนัด อย่างเช่นกระเป๋าจากใยกล้วยก็ให้ทางกลุ่มหัตถกรรมจักสานป่านศรนารายณ์เป็นคนเย็บ เพราะชำนาญทางด้านนี้และยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังสมาชิกในเครือข่ายอีกด้วย สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโทร.08-6380-6338
“อยากฝากถึงเด็กรุน่ใหม่ว่าการทำเกษตรมันไม่ใช่ยากอย่างที่พวกเขาคิด การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น ให้คิดว่าทำยังไงให้เราสบายขึ้น อย่าทำแบบคนขยันแต่ให้ทำแบบคนขี้เกียจ อย่างเช่นการรดน้ำทำอย่างไรไม่ต้องเดินไปรดทุกวัน ก็ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำแล้วเอาเวลาส่วนนี้ไปทำอย่างอื่นแทนก็จะก่อเกิดประโยชน์เกิดรายได้เพิ่มขึ้น”ปนิดากล่าวย้ำ
ปนัดดา กังวล เจ้าของไร่อ้อยและสับปะรด อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
เช่นเดียวกับเจ้าของรางวัลรองชนะเลิศ ปนัดดา กังวล เกษตรกรหญิงคนเก่งอีกราย ดีกรีปริญญาโทสาขาเกษตรนานาชาติจากไต้หวัน ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจไร่อ้อยและสับปะรด ในอ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพเกษตร เพราะอยากสานต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว เมื่อมาถึงยุคตัวเองก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการไร่ใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยแทนการบริหารจัดการแบบเดิม ๆ
“หนูจบป.ตรี สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ม.แม่โจ้ แล้วได้ทุนจากรัฐบาลไต้หวันไปศึกษาต่อที่ National Chung Hsing Universityจบแล้วทำงานอยู่ที่ไต้หวัน 3 ปีกว่า จึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านอยากมาสานต่อธุรกิจไร่อ้อยและไร่สับปะรดของครอบครัว ขณะนี้ก็กำลังทำป.เอกอยู่ที่ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ทำวิจัยไปด้วย ทำงานช่วยที่บ้านไปด้วยค่ะ”
เกษตรกรหญิงคนเก่งเผยต่อว่าหลังเข้ามาดูแลธุรกิจไร่อ้อยและสับปะรดอย่างเต็มตัวเมื่อ กว่า 3 ปีก่อนก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการไร่ใหม่ในหลาย ๆ อย่าง จากเดิมที่เน้นส่งผลผลิตเข้าโรงงานเป็นหลัก ปัจจุบันมีแนวคิดการแปรรูป/เพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยในส่วนของสับปะรด เริ่มมีการนำพันธุ์สับปะรดสำหรับบริโภคผลสดเข้ามาปลูกเพิ่มขึ้น และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นสับปะรดกวน พายสับปะรด
ในส่วนของอ้อยนั้นมีแผนที่จะนำอ้อยพันธุ์ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอ้อยน้ำคั้นจำหน่ายต่อไป ขณะที่ด้านการตลาดปัจจุบันยังคงเน้นการขายตามออเดอร์ ซึ่งจะมีแค่เฉพาะในช่วงฤดูกาลเท่านั้น แต่ในอนาคตอยากจะลองปลูกสับปะรดนอกฤดู เพื่อที่จะสามารถผลิตสับปะรดแปรรูป/จำหน่ายผลสดได้ทั้งปีอีกด้วย
“ปัญหาหลักตอนนี้ อันดับแรกเรื่องแรงงานเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สองระบบน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องใช้ ฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย อย่างเรื่องแรงงานก็ต้องนำเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาทดแทน แรงงานก็ใช้เท่าที่จำเป็นจริง ๆ ส่วนน้ำปรับใช้เป็นระบบน้ำหยด วางสายน้ำหยดและเทคโนโลยีAIR WAY เข้ามาช่วยเพิ่มแรงดันน้ำเพื่อให้น้ำในแปลงอ้อยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”ปนัดดากล่าวและว่าสนใจเยี่ยมชมไร่และผลิตภัณฑ์จากไร่โทร.09-2763-7693 "