ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมหยุดให้บุคคลทั่วไปจอง-ฉีด"ซิโนฟาร์ม" ก.ย.นี้
เลขาธิการราชวิทยาลัย เผย เตรียมหยุดให้บุคคลทั่วไป จอง-ฉีดวัคซีน"ซิโนฟาร์ม" ก.ย.นี้ ชี้ เป้าหมายหลักเดิมคือกลุ่มนิติบุคคล หวัง ขยายถึงเด็ก ก.ย.เช่นกัน
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้อธิบายรายละเอียด จุดกำเนิดของวัคซีนตัวเลือก Sinopharm ผ่านเฟซบุ๊ค Nithi Mahanonda ระบุว่า วัคซีนตัวนี้ไม่ใช่วัคซีนหลัก ไม่ใช่วัคซีนทางเลือก ที่กำหนดกันไว้จากคณะกรรมการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมาแต่แรก (วัคซีนหลักคือรัฐจัดหา ด้วยงบประมาณแผ่นดินจากภาษีอากรเรา (สำหรับคนที่เสียภาษี เพื่อให้บริการแก่ประชาชนฟรี และวัคซีนทางเลือก คือวัคซีนที่สถานพยาบาลเอกชน สามารถหาซื้อได้ ไปให้บริการแก่คนที่อยากเสียเงินตัวเอง)
Sinopharm เกิดขึ้นเพราะมีภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจและภาคสังคมที่เป็นกลุ่ม(ขอย้ำว่าเป็นกลุ่มนะครับ) ที่ยังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ และสังคมให้กับประเทศได้อยู่ ต้องสามารถดำเนินกิจการ หรือกิจกรรมได้ไปอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาคส่งออก การศึกษา บุคลากรการแพทย์ที่ตกสำรวจ และภาคบริการ และพร้อมที่จะช่วยแบ่งเบาภาระรัฐ (จริง ๆ แบ่งเบาภาระเราจากภาษี และหนี้ภาครัฐ) ด้วยการซื้อวัคซีนไปให้กับพนักงาน หรือบุคลากรในความดูแลได้ มาช่วยกันซื้อวัคซีน Sinopharm นี้ (ที่มีมาจัดให้บุคคลธรรมดาทั่วไปได้บ้างในตอนหลังเพราะมีบริษัทที่ไม่ได้มาติดตามโอนเงิน ประกอบกับมีการระบาดสูงขึ้น จึงได้แบ่งมาจัดสรรให้บุคคลทั่วไปด้วยอย่างรีบด่วน-ระบบหน่วยงานเล็ก ๆ ไม่มีเครือข่าย ไม่ได้เตรียมพร้อม และไม่สามารถดูแลได้ดี และทั่วถึง จึงมีปัญหาอย่างที่ผ่านมาครับ)
ลองดูตัวเลขด้านบนโดยประมาณ วัคซีนทั้งหมด(หรือเกือบหมด)ได้รับการจัดสรรหมดแล้ว(อย่าลืมรวม 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เป็นกติกาไว้ให้ทุกองค์กร ได้ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกันด้วย)
ดังนั้น วัคซีน 10 ล้านแรก(ถ้ามาครบตามนัด) ถึงสิ้นเดือนนี้ จัดสรรหมดแล้วครับ จากประสบการณ์จะมีความช้าในขั้นตอนต่าง ๆ หลังจัดสรรวัคซีน จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 อาทิตย์ ถึงจะไปอยู่ในตัวทุก ๆ คนได้ ซึ่งเรื่องนี้ เดี๋ยวจะลองปรับวิธีการ สำหรับการจัดสรรในเดือนหน้า ที่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน(คนจัดสรร คนรับจัดสรร คนฉีด และคนรับฉีดครับ) ด้วยเช่นกัน
สำหรับเดือนหน้า เราจะทำตามวัตถุประสงค์แรกของวัคซีนตัวเลือก Sinopharm คือจะกลับไปที่กลุ่มนิติบุคคลเช่นเดิมก่อน โดยที่จะขอให้ทุกนิติบุคคล เตรียมหาสถานที่บริการฉีดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีเป็นเอกสารยืนยันมา พร้อมกับเอกสารกำกับอื่น ๆ ว่า มีสถานพยาบาลลงนาม รับบริการฉีดภายใน 5 วัน หลังจากได้รับการจัดสรร (ซึ่งในส่วนนิติบุคคลต้องเตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน ในการโหลดชื่อพนักงาน/คน ขึ้นระบบอย่างรวดเร็วด้วย-เรื่องนี้เป็นจุดที่ช้าและมีปัญหามาก สำหรับองค์กรเล็ก ที่ไม่มีฝ่ายบุคคล และไอทีช่วย ขอให้เตรียมการไว้ล่วงหน้ากันด้วย) "ใครพร้อมก่อนได้ก่อน" เราจะจัดสรรเรียงลำดับไปในแต่ละกลุ่ม (บริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก อปท. และนิติบุคคล ที่เป็นสถานพยาบาลเอกชน) อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ตามจำนวนวัคซีนที่ราชวิทยาลัยจะได้รับการยืนยันจากจีน อาทิตย์ละ 1 ครั้งโดยประมาณเช่นกัน(เบื้องต้นเดือนกันยายน/ตุลาคมไม่น้อยกว่า 10 ล้าน อาจบวกลบได้ 10 เปอร์เซ็นต์)
บุคคลธรรมดาทั่วไป คงยังไม่มีการจัดสรรให้ในช่วงแรก แต่ทางราชวิทยาลัยเตรียมทางออกไว้ให้ดังนี้
1. จะเปิดจองวัคซีนหลัก เพื่อมารับการฉีดที่ราชวิทยาลัย เพราะเราเพิ่งจัดการกับคนในคิวเดิมหลายแสนหมดไปพอดี วัคซีนหลักนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย และดีเหมือน ๆ กันหมด ที่ราชวิทยาลัยยังไม่มีนโยบายฉีดข้ามชนิดในขณะนี้ เว้นเป็นงานวิจัย หรือแพทย์เห็นสมควร
2. สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไปในต่างจังหวัด จะได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทางราชวิทยาลัยจะส่งวัคซีน Sinopharm ผ่านระบบ พอสว. ไปในจังหวัดที่มี พอสว.เพื่อช่วยกระจายระบบการฉีด โดยทั้ง 2 ทางนี้ จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากมีใครเรียกเก็บเงิน ไม่ว่ากรณีใด ๆ ช่วยแจ้งความ หรือส่งมาให้ราชวิทยาลัยทราบ พร้อมหลักฐานด้วย
3. ในกลุ่มนิติบุคคลกลุ่มที่ 4 ที่เพิ่งจัดให้ใหม่ คือจะมีนิติบุคคลที่เป็นสถานพยาบาลเอกชน ที่ขอรับจัดสรรไป เพื่อให้ไปช่วยฉีดให้กับคนไข้เขาได้เองเลย หรือใกล้บ้านใคร ก็เข้าไปนัดฉีดได้เลย โดยไม่ต้องทำการโหลดชื่อขึ้นระบบให้เสียเวลา ก่อนการนัดฉีด เพราะเขาจะมีวัคซีนรออยู่ในโรงพยาบาลแล้ว(แต่เขาต้องส่งชื่อท่านขึ้นระบบหมอพร้อมของกระทรวง เมื่อท่านไปรับการฉีดแล้วเหมือนปกติ)
ในเดือนกันยายน หวังว่า เราจะได้รับการขยายอายุการฉีดวัคซีนให้ในเด็กจากทาง อย. ได้สำเร็จ เพราะทางประเทศจีน ประเทศผู้ผลิต ได้อนุญาตให้ใช้ได้ไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ประสานกันอยู่อย่างใกล้ชิด
ที่มา : นิธิ มหานนท์