"ยธ." เตรียมพร้อมปล่อยผู้ต้องขังคดี "พืชกระท่อม" มีผล 24 ส.ค.นี้
รมว.ยุติธรรม หารือ ศาล-อัยการ-ตำรวจ-ราชทัณฑ์ เตรียมความพร้อมปล่อยตัวผู้กระทำผิดคดี"พืชกระท่อม" พร้อมเร่งทำระเบียบให้เสร็จก่อน 24 ส.ค. ที่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ยกเว้น กรณีนำพืชกระท่อมผสมดัดแปลงยาแก้ไอสูตร 4x100 ถือเป็นความผิด อดได้สิทธิประโยชน์
16 ส.ค. 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประชุม ร่วมกับ นายอุทัย สินมา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายปกรณ์ ยิ่งวรการ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม พล.ต.ต .มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความพร้อมและแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม
อ่านข่าวที่น่าสนใจ :
รมว.ยธ."สมศักดิ์ เทพสุทิน" สั่งการประชุมเตรียมปล่อยตัวผู้ต้องขัง"คดีกระท่อม"
รมว.ยุติธรรม ประกาศปลดล็อกพืชกระท่อม พร้อมส่งเสริมการปลูก
โปรดเกล้าฯ ปลดล็อก พืชกระท่อม พ้นยาเสพติดประเภท 5 สอดคล้องวิถีชาวบ้าน
นายสมศักดิ์ ระบุว่า กฎหมายที่นำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ส.ค.2564 ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมในการปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดีนี้ออกจากเรือนจำ รวมทั้งการดำเนินคดีต่างๆต้องถูกยุติและจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ตนจึงต้องขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งศาล อัยการ ตำรวจ ป.ป.ส. และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งในส่วนของกฎหมายรอง คือ ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม อยู่ในขั้นตอนของการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในส่วนของกมธ.วิสามัญได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีทั้งสิ้น 39 มาตรา โดยกมธ.ได้ปรับลดความยุ่งยากอยากให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด สามารถปลูก ใช้และจำหน่ายได้อย่างเสรี มีเรื่องของการนำเข้าและส่งออกที่ต้องขออนุญาตกับทาง ป.ป.ส. และการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องของอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถิติผู้ต้องขังที่กรมราชทัณฑ์ได้สำรวจ ความผิดคดีพืชกระท่อมมี 1,038 ราย คิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการดูแลประมาณปีละ 21,891,420 บาท และในปี 2564 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น 22,076 ข้อหา คิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าย 1,691,287,000 บาท ส่วนในปี 2563 มี 50,834 ข้อหา ต้นทุนค่าใช้จ่าย 3,894,494,000 บาท และจำนวนคดีชั้นพนักงานอัยการ 11,455 ราย
ซึ่งหลังจากวันที่ 24 ส.ค. ตามกฎหมายผู้กระทำผิดที่คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน พนักงานอัยการ การพิจารณาของศาล ผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดจะไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิดอีกต่อไป ซึ่งในการดำเนินการต่างๆเหล่านี้เราจะต้องทำระเบียบการปล่อยตัวต่างๆให้เสร็จก่อนวันที่ 24 ส.ค. เพื่อไม่ให้เกิดการติดค้าง เพราะหากเราปล่อยไว้นาน ผู้ที่ต้องโทษในเรือนจำจะกลายเป็นผู้เสียหายหรือกลายเป็นแพะ และเราจะต้องดำเนินการเงินชดเชยเยียวยาพวกเขาเหล่านั้นอีก ดังนั้นตนจึงขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นจากที่ประชุม โดยนายปกรณ์ ระบุว่า ผู้กระทำความผิดคดีพืชกระท่อมต้องพ้นโทษ ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษา การส่งฟ้องต้องถูกยกคำฟ้องในทุกชั้นศาล ส่วนผู้ที่ถูกฝากขังก็ต้องได้รับการปล่อยตัวในวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ในส่วนของผู้ต้องขังในเรือนจำจะต้องรอหมายศาลเพื่อให้ปล่อยตัว ทั้งนี้ตนขอให้เรือนจำมีการปรับเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้มีความเสถียร เพื่อให้มีการรองรับการอ่านคำพิพากษาผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการ
ทั้งนี้ในที่ประชุมมีการหารือถึงการนำน้ำกระท่อมไปผสมกับยาแก้ไอ หรือทำในลักษณะที่เรียกว่า 4x100 โดยนายวิชัย ระบุว่า ยาแก้ไอมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและการจะซื้อต้องมีใบสั่งจากแพทย์ การนำไปผสมหรือดัดแปลงถือว่าเป็นความผิด จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้