"นิพนธ์" ถกเครือข่ายลดอุบัติเหตุทางถนน 17 จ.ภาคเหนือ
"นิพนธ์" สั่งการให้นายอำเภอเร่งจัดตั้ง "ศปถ.ท้องถิ่น" ให้ครบทุกตำบล หวังอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในอีก 6 ปีข้างหน้า เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย"ตำบลขับขี่ปลอดภัย"
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ รุ่นที่ 2 (17 จังหวัดภาคเหนือ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ต่อลมหายใจชาวสวน ผลไม้ครองแชมป์ส่งออก สวนกระแสโควิด-19
"เฉลิมชัย"ปลุกตลาดภายในคิกออฟโครงการ "เกษตรกร Happy"เฟส2
เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนเทศบาล ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในการเปิดโครงการฯ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นภัยคุกคามที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกประมาณ 1.35 ล้านราย เฉลี่ยวันละ 3,700 คนต่อวัน โดยครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์และผู้โดยสาร ผู้ใช้รถจักรยาน คนเดินเท้า เป็นสาเหตุลำดับต้นๆที่ก่อให้เกิดความพิการ
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ระหว่างเดือนมกราคม - ปัจจุบัน 2564 มีผู้เสียชีวิตสะสม 8,625 ราย และบาดเจ็บสะสม 559,404 คน
ดังนั้นหากคำนวณเพื่อหาจำนวน ผู้พิการซึ่งมีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของผู้บาดเจ็บสาหัส จะพบว่า ผู้บาดเจ็บสาหัสมีโอกาสเป็นผู้พิการถึง 8,016คน เมื่อคำนวณมูลค่าความสูญเสียประเทศไทยเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งสถานบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คำนวนมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิต พบว่าการเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับ 10 ล้านบาทต่อราย
โดยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 17,831 คน คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 178,310,000,000 บาท ดังนั้นอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียเพียงร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างภาระค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ได้แก่ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้
รวมถึงค่าชดเชยในกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุหลักเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเกิดบนถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำกรอบแนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ปฏิญญาสตอกโฮล์ม และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน
โดยมีเป้าหมายลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี 2570 ซึ่งหากบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวนผู้เสียชีวิตจะเหลืออยู่ประมาณ 7,940 คน
และในปี พ.ศ.2565 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้เหลือ12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในอีก 6 ปีข้างหน้า
โดยให้ความสำคัญกับกลไกในการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ทุกระดับ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น โดยเพาะอย่างยิ่ง ให้นายอำเภอเร่งจัดตั้งศปถ.ท้องถิ่นให้ครบทุกตำบล เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับ อปท.และประชาชนในพื้นที่
สามารถขับเคลื่อนนโยบายตำบลขับขี่ปลอดภัยให้ประสบผลสัมฤทธิ์ ลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อขับเคลื่อนมาตรการและแผนงานด้านความปลอดภัยทางถนน ไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถ ลดความสูญเสีย และผลกระทบ ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน ได้อย่างแท้จริง