คลาย "ล็อกดาวน์" กทม.เปิด "สถาบันการเงิน-แบงก์ในห้างฯ" ถึง 2 ทุ่ม เริ่ม 18 ส.ค.
"กทม." ออกประกาศ ฉบับที่ 40 คลาย "ล็อกดาวน์" "ผ่อนปรนกิจการ" ให้เปิด "สถาบันการเงิน-แบงก์ในห้างฯ" ได้ถึง 20.00 น. เริ่ม 18 ส.ค.2564 นี้
วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศ ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 40)
ตามที่ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 39) ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ให้ปิดสถานที่และให้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้การระบาดเพิ่มความรุนแรงขึ้น นั้น
เนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้แจ้งให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เพื่อปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการดำเนินชีวิต
ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการประชุม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 24/2564 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564
จึงมีคำสั่งให้ ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน เช่น ธุรกิจลิสซิ่ง บัตรเครดิต หรือการให้สินเชื่อ ที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป