จับตาก้าวย่าง"ฉัตรชัย พรหมเลิศ" ปลัดมหาดไทย ชีวิตและผลงานก่อนเกษียณ
"ฉัตรชัย พรหมเลิศ" ปลัดมหาดไทย ชีวิตและผลงานก่อนเกษียณปีนี้ จะใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบหรือเข้าสู่การเมือง
เดือนกันยายนของทุกปี เป็นวาระเกษียณอายุของข้าราชการ
"บิ๊กมหาดไทย" อย่าง ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย คนปัจจุบันก็เช่นกัน
น่าสนใจเส้นทางการรับราชการของปลัดกระทรวงมหาดไทยคนดังกล่าว
ซึ่งเป็นอธิบดีอีกคนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับแต่งตั้งและเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560
เส้นทางเติบโตในราชการของ ปลัดมหาดไทย (ปมท.) คนที่ 39 ผู้นี้ เริ่มชีวิตราชการ จากการเป็นปลัดอำเภอดงหลวง จ.มุกดาหาร จนได้เป็น หัวหน้ากิ่งฯ แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
ในปี 2539 โอนไปเป็น รพช.จังหวัดสิงห์บุรี และนครสวรรค์
ในปี 2544-2545 สังกัด สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ซึ่งเปลี่ยนเป็น กรมเร่งรัดพัฒนาชนบท ในเวลาต่อมา
เมื่อมีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมฯปี 2545 รวมงานกรมเร่งรัดพัฒนาชนบทกับงานโยธาธิการบางส่วน ตั้งเป็น"กรมทางหลวงชนบท"สังกัดกระทรวงคมนาคม
ปลัดฉัตรชัยฯ จึงโยกตัวเองมาอยู่กรม ปภ.ฯ กรมที่ตั้งขึ้นใหม่ในกระทรวงมหาดไทย (มท.) รับตำแหน่ง ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ ปภ. เมื่อเดือน ก.พ. 2546 ก่อนเลื่อนเป็น ผอ.สำนักฯและรองอธิบดีกรม ปภ.ในเดือน ธ.ค. 2548 ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าฯ ลพบุรี มีผลงานที่รู้คือ เมื่อครั้งน้ำท่วมปี 2554 ประตูระบายน้ำบางโฉมศรีแตกไหลทะลักเข้ามารอบนอกของ จ.ลพบุรี
"ผู้ว่าฯฉัตรชัย"ขณะนั้น ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน จากอุทกภัยน้ำท่วม ด้วยการการแก้ไข ปัญหาทำให้น้ำไม่ท่วมขังเข้าตัวเมือง
ถามคน จ.ลพบุรี จะรู้ดีว่า ทุก ๆ วัน จะเห็นหน้า "ผู้ว่าฯฉัตรชัย" จะออกมาลุยน้ำช่วยเหลือประชาชนจนผลงานเข้าตารัฐบาล จึงได้ขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมปภ.ใน 1 ต.ค. 2555 สร้างผลงาน ด้านแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
พร้อมกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย สร้างระบบป้องกัน เตือนภัย ฟื้นฟูหลังเกิดภัย และการติดตามประเมินผล เพื่อให้หลักประกันในด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งยังคงใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมจวบจนปัจจุบัน
ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็น "ปลัดมหาดไทย (ปมท.)" นับเป็นอธิบดีกรม ปภ.คนที่สอง ที่ข้ามขึ้น "ปมท." ต่อจาก วิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรม ปภ. ที่นำทางขึ้น ปมท. มาก่อน
พลิกโฉมของการเป็น "ปมท." ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านงานตำแหน่งในสายงานนักปกครอง อย่าง นายอำเภอ หรือ ปลัดจังหวัดหรือ รองผู้ว่าฯ มาก่อนก็ได้
ดังนั้น 30 ก.ย. 2564 "ปมท." ท่านนี้จะครบเกษียณอายุการดำรงตำแหน่ง ครบ 4 ปีเต็ม อย่างเข้มแข็งและสง่างาม ด้วยความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะ ในการปฏิบัติหน้า
ที่เปรียบประดุจพ่อบ้านของ มท. ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ทั่วประเทศเป็นกลไก ร่วมมือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งในเรื่องความเป็นอยู่การทำมาหากิน
ตลอดจนถึงความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน อันเกิดจากภัยพิบัติตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง ปมท. อย่างเข็มแข็ง และสง่างาม รวมทั้งภารกิจสำคัญต่าง ๆ ที่ "ปลัดฉัตรชัย" ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ที่มี มท. เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
จนเป็นที่รู้กันว่า" ปลัดฉัตรชัย" นั้น เป็นนักปกครอง มีความรู้ ความสามารถ มากมายด้วยน้ำใจ มีบุคลิกโอบอ้อมอารีมีมนุษย์สัมพันธ์ และอัธยาศัยที่ดีงาม
มีประสบการณ์ เพียบพร้อมด้วยความเป็นผู้นำ และผู้ประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์บ้านเมือง ที่ต้องการสร้างความปรองดอง อย่างกลมเกลียวและมีประสิทธิภาพ
นับแต่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป" ปลัดฉัตรชัย" จะเลือกใช้ชีวิตของข้าราชการประจำอาชีพ ที่เกษียณอายุราชการอยู่บ้านอย่างสงบเรียบง่าย
หรือจะเลือกเดินอีกเส้นทางหนึ่งเข้าสู่ถนนการเมือง ด้วยการนำประสบการณ์ของนักปกครองที่สร้างผลงานตลอดระยะเวลาที่รับราชการใน มท. จนครบอายุราชการอย่างสง่างาม
สมกับคำขวัญของ มท.ว่า "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ประเทศชาติ และประชาชน