รู้หรือไม่ "กะเพรา" พืชใกล้ตัว มากสรรพคุณ
"กะเพรา"จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้หลายชนิด เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายด้าน
"กะเพรา"เป็นไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 30-60 ซม. โคนต้นออกแข็ง
"กะเพราแดง" จะมีลำต้นสีแดงอมเขียว "กะเพราขาว"มีลำต้นสีเขียวอมขาวและยอดอ่อนมีขนสีขาว มีใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว
ส่วน"ดอกกะเพรา"จะออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนจะเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน
กลีบดอก แบ่งเป็น 2 ปาก ปากบน 4 แฉก ปากล่าง 1 แฉกและยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรตัวผู้มี 4 อัน ส่วนผลเป็นผลแห้ง เล็ก เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำถึงน้ำตาลคล้ายรูปไข่
"กะเพรา" มี 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว
"กะเพราแดง"จะมีฤทธิ์ที่แรงกว่า"กะเพราขาว" ในสรรพคุณทางยาจึงนิยมใช้"กะเพราแดง"
โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพร คือ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา ทั้งสดและแห้ง และทั้งต้น แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาหารจะนิยมใช้"กะเพราขาว"เป็นหลัก
สรรพคุณ
ใบ บำรุงธาตุไฟธาตุ ขับลมแก้ปวดท้องอุจจาระ แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้โรคบิด และขับลม
เมล็ด เมื่อนำไปแช่น้ำ เมล็ดพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผงหรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย
ราก ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ
น้ำสกัดทั้งต้น มีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกอก
ใบและกิ่งสด เมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่น ได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08-0.10 ซึ่งมีราคา 10,000 บาทต่อกิโลกรัม
แก้ลม ขับลม จุกเสียดในท้อง เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น
ใช้รักษาโรคของเด็ก คือ เอา "ใบกะเพรา" มาตำละลายกับน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กแรกเกิดกินเรียกว่าถ่ายขี้เถ้า หรือตำแล้วบีบเอาน้ำผสมกับมหาหิงค์ ทารอบสะดือ แก้ปวดท้องของเด็ก ปรุงเป็นยาผง ส่วนมากจะใช้เฉพาะใบรากแห้ง ชงกับน้ำร้อนดื่มแก้ธาตุพิการได้ดีและใบกับดอกผสมปรุงอาหาร
เป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ
และพบว่าฤทธิ์ขับลม ซึ่งเกิดจากน้ำมันหอมระเหย และสารEugenol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด