วราวุธ เกาะติดปัญหา"มูลฝอย"ติดเชื้อโควิด-19 จาก Home Isolation
วราวุธ เกาะติดปัญหา"มูลฝอย"ติดเชื้อโควิด-19 จาก Home Isolation แนะ นำมูลฝอยใส่ถุงขยะ ราดหรือพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
รมว.ทส. วราวุธ ศิลปอาชา เกาะติดปัญหา มูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 จาก Home Isolation สั่งรณรงค์ให้ความรู้การกำจัดตั้งแต่ต้นทาง แนะนำมูลฝอยใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่น ราดหรือพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด - 19 มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น
ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายในการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด – 19 แบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่อาการไม่รุนแรง
ซึ่งการเข้าสู่ระบบ Home Isolation สิ่งที่ตามมาคือ ทำให้มีมูลฝอยและมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภคแบบใช้ครั้งเดียว
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมอนามัยชี้ว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อมากกว่า 294 ตันต่อวัน
“ปัญหาที่เกี่ยวกับ มูลฝอยติดเชื้อ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่ตามมา
ดังนั้นการสร้างรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่เกี่ยวกับมาตรการการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ แก่ประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการกำจัดมูลฝอย และมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย หอพัก อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม ที่ดำเนินการในระบบ Home Isolation เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและถูกวิธี”
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ถ้าปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้รวบรวมใส่ถุงขยะสีแดง มัดปากถุงให้แน่น ราดหรือพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวบรวมไว้ภายในบริเวณที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ออกสู่สิ่งแวดล้อม
ส่วนที่เป็นมูลฝอยประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกและอื่น ๆ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ขวดน้ำดื่มฯลฯ ที่ได้รับช่วงกักตัวหรือรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ให้รวบรวมใส่ถุงขยะราดน้ำยาฆ่าเชื้อลงในถุง มัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณปากถุง มัดปากถุงให้แน่น และฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง
จากนั้นนำไปทิ้งในจุดรวบรวมขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ เพื่อรอการเก็บจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปกำจัดตามมาตรการที่กำหนดต่อไป