ข่าว

“เรียนออนไลน์” การบ้านท่วม ทำเด็กไทยเนือยนิ่งเพิ่มเป็น 14ชั่วโมงต่อวัน

“เรียนออนไลน์” การบ้านท่วม ทำเด็กไทยเนือยนิ่งเพิ่มเป็น 14ชั่วโมงต่อวัน

22 ส.ค. 2564

ผลสำรวจย้ำชัด “เรียนออนไลน์” เด็กปวดตา เครียด การบ้านท่วม นอนน้อย ขาดกิจกรรมทางกาย หมอเด็กห่วงกินอาหารตามใจ ทำให้เด็กอ้วน และเนือยนิ่งเพิ่ม แนะชวนเด็กทำงานบ้าน-เล่นกีฬา

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนเป็นวงกว้าง รวมถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ

 

สสส. จึงร่วมกับศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์“ทราบแล้วเปลี่ยน” แนวทางส่งเสริมสุขภาพเด็กในช่วงเรียนออนไลน์

 

ซึ่งข้อมูลการศึกษาของTPAKพบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19พบว่า เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 14 ชั่วโมงต่อวัน เพราะส่วนใหญ่ต้องเรียนออนไลน์และนั่งอยู่หน้าจอทั้งวัน 

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เด็กต้องขยับร่างกาย 60 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กไทยมีกิจกรรมทางกาย การเล่น หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่เพียงพอ เฉลี่ย 26%

 

แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น คือ เด็กไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงเหลือเพียง17%

“การไม่ขยับร่างกาย หากไม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น เเละในระยะยาวมีผลต่อการเรียนรู้เเละเจริญเติบโต เด็กอาจติดเป็นนิสัยในอนาคต

 

สสส. จึงแนะนำให้ในชั่วโมงเรียนการเรียนควรให้มีช่วงพักเพื่อเข้าห้องน้ำ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ได้เล่นผ่อนคลาย และเมื่อเลิกเรียน ควรมีกิจกรรมในบ้านร่วมกัน เช่น ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย

 

หรือแม้แต่การเล่นของเด็กๆ ก็ช่วยเสริมสร้างร่างกาย จิตใจ และพัฒนาสมอง ถือเป็นโอกาสดีที่ครอบครัวจะสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

นอกจากนี้ สสส. กระทรวงศึกษาธิการเเละกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมทำชุดความรู้ “คู่มือการจัดการโรงเรียน รับมือโควิด-19” ซึ่งขณะนี้มียอดดาวน์โหลดนับล้านครั้ง สามารถนำไปปรับใช้”ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา  หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายฯ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลในประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ และการจัดการด้านสุขภาพ ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1ถึงปริญญาตรี ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด 243 คน เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

พบ 8 อันดับสูงสุดของปัญหาที่นักเรียนประสบในช่วงการเรียนออนไลน์ ได้แก่

 

1.) มีอาการปวดตา/ตาอ่อนล้า/ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ/ปวดหลัง/ปวดคอและบ่าไหล่ และพฤติกรรมเนือยนิ่ง 79%

 

2.)เครียด วิตกกังวล 

โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6เตรียมศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 เตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนที่ดีรับเข้าเรียน74.9% 

 

3.จำนวนการบ้านมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อเวลาในการพักผ่อน/การนอนหลับในแต่ละวัน71.6%

 

4.มีความรู้สึกไม่อยากเรียน ร้อยละ 8.3%

5.ห่วงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต 66.3%

6.ขาดกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายน้อยลง 58%

7.สภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เอื้ออำนวยทำให้ขาดสมาธิ57.2%

และ 8. รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา 56%

 

ผศ.พญ. แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล และกุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กกล่าวว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาพของสมอง 

 

จากการเรียนออนไลน์พบว่า เด็กอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสายตาที่กะพริบตาน้อยลง ทำให้ตาแห้ง มีอาการปวดตา นั่งนาน จะปวดเมื่อยตัว 

 

ด้านพฤติกรรมสุขภาพส่งผลกระทบทั้งเรื่องการกิน การนอน สามารถกินได้ตลอดเวลา หากผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพอาหาร อาจส่งผลให้เด็กเกิดภาวะอ้วนได้ ซึ่งหากเด็กอ้วนแล้วนะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต ไขมันในเลือดสูง 

 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่สำคัญคือ การมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวต้องเป็นไปในเชิงบวก พ่อแม่ต้องจัดสรรเวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกในช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน ความเข้มแข็งทางจิตใจของพ่อแม่ จะทำให้เด็กมีพลังในการลุกขึ้นสู้

 

ดังนั้นการพูดคุยสื่อสารกับเด็กจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเข้มแข็งและเติบโตไปได้ ส่วนของโรงเรียนควรมีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มรูปแบบกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น จัดตารางเรียนให้เหมาะจัดครูไปเยี่ยมบ้านนักเรียนในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียนไม่มีเวลา