ปมปัญหากระจาย"ลำไย"ลำพูนผ่านไปรษณีย์ไทยยุคโควิด-19
แจงปัญหากระจาย"ลำไย"ลำพูนผ่านไปรษณีย์ไทยยุค โควิด-19 จาก แปลงใหญ่ริมปิง สู่ผู้บริโภคทั่วไทย แม้จะเข้าสู่ช่วงปลายฤดู แต่การกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคก็ยังมีปัญหาส่งผลทำให้ราคาตกต่ำในรอบหลายปี
แม้จะเข้าสู่ช่วงปลายฤดู แต่การกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคก็ยังมีปัญหาส่งผลทำให้ราคาตกต่ำในรอบหลายปีที่ผ่านมาสำหรับลำไยในพื้นที่จังหวัดลำพูน โดยเฉพาะผลผลิตจากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ลำไยในตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ถือเป็นสุดยอดลำไยคุณภาพมาตรฐานส่งออก
“ช่วงนี้ลำไยอยู่ในปลายฤดู ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้การขนส่งส่วนต่าง ๆ เป็นอุปสรรคในการกระจายสินค้าส่งผลให้ราคาลำไยปีนี้ตกต่ำมากจนติดฟลอร์เลย ถือว่าราคาต่ำสุดในรอบหลาย ๆ สิบปีก็ว่าได้”
ศุภกฤต วันมาละ
ศุภกฤต วันมาละ รองประธานโครงการเกษตรแปลงใหญ่ลำไยริมปิง ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนกล่าวในรายการ”เกษตรวาไรตี้”ทางสถานีวิทยุม.ก.
โดยเขายอมรับว่าหลังมีการจัดตั้งโครงการแปลงใหญ่ลำไย เมื่อปี 2561 จากนั้นปีถัดมาได้มีการทำเอ็มโอยูกับทางไปรษณีย์ลำพูน ทำให้มีโอกาสในการกระจายลำไยจากแหล่งผลิตมากยิ่งขั้น
โดยในปีแรกได้ส่งให้ทางไปรษณีย์ประมาณ 40 ตัน จากนั้นปีที่สองเพิ่มเป็น 60 ตัน และปีนี้ได้มีการวางแผนร่วมกันตั้งแต่ต้นว่าจะส่งให้ทางไปรษณีย์ประมาณ 100 ตัน แต่ต้องมาเจอโควิด-19 ระบาดเสียก่อน จึงไม่สามารถส่งลำไยให้ตามเป้าที่วางไว้ได้
“เรามีหน้าที่ผลิตและคัดเกรดลำไยแพคใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ให้เรียบร้อยแล้วส่งให้ไปรษณีย์ ส่วนเรื่องตลาดการจัดส่งทางไปรษณีย์เขาจะดำเนินการเอง สำหรับตลาดที่กลุ่มทำอยู่ก่อนแล้วก็จะส่งให้กับล้งเป็นหลัก นอกนั้นก็ขายทางออนไลน์”รองประธานแปลงใหญ่ลำไยริมปิงเผย
ศุภกฤต ยังกล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ลำไยในปีนี้ว่าปริมาณผลผลิตค่อนข้างมากกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะจังหวัดลำพูนมีพื้นที่เพาะปลูกลำไยประมาณ 35,167 ไร่ ผลิตรวมอยู่ที่ 33,958 ตัน เป็นผลผลิตในฤดู 228,000 ตัน นอกฤดู 107,926 ตัน
ปัจจุบันการปลูกลำไยสามารถปลูกได้ในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่พื้นที่ปลูกหลักจะอยู่ทางแถบภาคเหนือและภาคตะวันออก ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่านและลำปาง ส่วนภาคตะวันออกได้แก่จันทบุรีและตราด
“ราคาหน้าสวนตอนนี้ถ้าเป็นเกรดเอเอส่งจีนอยู่ที่ 30 บาท เกรดรองลงมาเป็นตลาดในประเทศจะอยู่ที่15-18 บาท ส่วนราคาที่เกษตรกรอยู่ได้คำนวณจากต้นทุนต้องไม่ต่ำกว่า 15 บาทถือว่าจุดค้มทุน แต่ไม่มีกำไร ถ้าจะให้มีกำไรก็ต้อง 20 บาทขึ้นไป”รองประธานแปลงใหญ่ริมปิง กล่าวย้ำ
สุชาติ นิกันติประชากุล
ขณะที่ สุชาติ นิกันติประชากุล หัวหน้าแผนกลูกค้าธุรกิจ ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดลำพูน กล่าวยอมรับว่า ปัญหาการกระจายผลไม้ปีนี้ไม่ใช่มีแต่ลำไย แต่ไม้ผลทุกชนิดมีปัญหา อันเนื่องจากมาจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ไปรษณีย์หลายสาขาต้องปิดทำการ
โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณมณฑล ซึ่งเป็นตลาดหลัก เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง แต่ไม่สามารถส่งสินค้าสู่ปลายทางได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันที่ไปรษณีย์ได้ดำเนินการรับส่งผลไม้มีอยู่สองรูปแบบ โดยรูปแบบแรก โครงการกระจายผลผลิตผลไม้ อย่างที่ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลำไยอย่างเดียว แต่มีผลไม้ชนิดอื่น ๆ ด้วย
ส่วนอีกรูปแบบไปรษณีย์ทำหน้าที่ในฐานะตัวกลางการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายกลุ่มต่าง ๆ เช่นกลุ่มผู้ขายออนไลน์ แล้วนำสินค้ามาส่งกับทางไปรษณีย์ไทย ซึ่งมีกว่า 1,800 สาขาทั่วประเทศ
จึงทำให้ไปรษณีย์มีบทบาทเป็นผู้ขนส่งและผู้จำหน่าย โดยอาศัยเครือข่ายของไปรษณีย์ทั่วประเทศเป็นผู้ดำเนินการรับลำไยจากจังหวัดลำพูนไปวางขายในพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง ในขณะเดียวกันไปรษณีย์ลำพูนเองก็รับสินค้าจากพื้นที่อื่นมาจำหน่ายเช่นกันตามออเดอร์ของลูกค้า
“โครงการกระจายลำไยของจังหวัดลำพูน เราจะรับลำไยจากสองแหล่งคือของสหกรณ์การเกษตรประตูป่าและกลุ่มแปลงใหญ่ริมปิง ซึ่งปีที่แล้วสามารถกระจายลำไยได้ถึง 322 ตัน แต่ปีนี้โชคร้ายมีปัญหาโควิด ล่าสุดส่งลำไยออกได้เพียง 130 กว่าตันเท่านั้นเอง”หัวหน้าแผนกลูกค้าธุรกิจ ที่ทำการไปรษณีย์จ.ลำพูนเผยข้อมูล
ธัญพร นันตะสุคนธ์
ด้านธัญพร นันตะสุคนธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตำบลริมปิง กล่าวว่าเกษตรกรในตำบลริมปิงกว่าร้อยละ90 มีอาชีพและรายได้หลักจากการทำสวนลำไย
แต่ต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำทุกปี หลังจากกรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพทำสวนลำไย
“ ตำบลริมปิงเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาทุกปีทั้งเรื่องคุณภาพลำไย ราคาที่ไม่แน่นอนก็เลยมีแนวคิดถ้าเรารวมกลุ่มกันก็จะมีอำนาจในการต่อรองแล้วก็มีการถ่ายทอดความรู้ การนำนวัตกรรมใหม่ นำหลักวิชาการใหม่ ๆ มาใช้งานในลักษณะกลุ่มทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว”ธัญพรกล่าว
และย้ำว่า ปัจจุบันแปลงลำไยของเกษตรกรสมาชิกในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ได้รับมาตรฐานจีเอพี(GAP)แล้วทั้งหมด ส่วนเกษตรกรรายย่อยอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในโครงการฯ ได้รับมาตรฐานจีเอพี(GAP)เพียงร้อยละ50 เท่านั้น