ส.ป.ก. จับมือ อีอีซี ร่วมพัฒนา"สมุนไพรไทย"ครบวงจร
ส.ป.ก. จับมือ อีอีซี ร่วมพัฒนา"สมุนไพรไทย"ครบวงจรภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมช.กษ.)เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)
ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันอังคารที่ 24 สิงหาคม2564 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด– 19 ตำรับยาไทยและสมุนไพรไทยโดยเฉพาะฟ้าทะลายโจรและกระชายขาวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ยับยั้งการกระจายตัวของเชื้อได้ ทำให้ตลาดมีความต้องการสูง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงสนับสนุนให้ ส.ป.ก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการส่งเสริมการปลูกและขยายพันธุ์สมุนไพรในเขต ส.ป.ก. แบบครบวงจร จนนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในครั้งนี้
รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและได้เห็นความก้าวหน้า ความสำเร็จของส.ป.ก.ในอีกขั้นหนึ่งที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมกับ สกพอ. เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก"
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)โดย ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพืชสมุนไพรอย่างครบวงจรตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การส่งเสริมคุณภาพการผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการ
จัดการและการตลาด
โดยหน่วยงานทั้งสองจะร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพืชสมุนไพรและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับสมุนไพรไทยในเขตปฏิรูปที่ดิน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ให้มีความปลอดภัยและมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด
ขณะที่ ดร.วิณะโรจน์ เผยว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้ เป็นการร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพรไทยแบบครบวงจรครั้งแรกในเขตส.ป.ก. เพื่อช่วยต่อยอด พัฒนาศักยภาพเกษตรกรตลอดจนกลุ่มเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในการเพาะปลูกและแปรรูปสมุนไพรไปสู่ระบบมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ EEC มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป