NR ม.มหิดลติดอาวุธนักรบเส้นด้าย คืนศักดิ์ศรีคุณค่าให้ “คนเคยป่วย”
NR ม.มหิดล คืนศักดิ์ศรีคุณค่า มนุษย์จิตอาสาโควิด-19 จัดอบรมออนไลน์ให้ “คนเคยป่วย”ได้เป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19
ไม่มีใครจะเข้าใจผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดีเท่ากับผู้ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคแล้ว หรือ“คนเคยป่วย”
คงน่าเสียดายหากประสบการณ์ที่เคยผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากดังกล่าวด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ของบุคคลเหล่านี้ จะปล่อยผ่านไปให้เป็นเพียงแค่ความทรงจำ หากไม่ได้นำมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังส่งต่อวิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด-19 และเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยรายใหม่ต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (NR) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (NR) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับ จิตอาสากลุ่มเส้นด้าย จัดโครงการ “ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย” อบรมออนไลน์ให้แก่ผู้ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคแล้วหรือ “คนเคยป่วย”ได้เป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19
ใน Community Isolation หรือพื้นที่กักโรคตามชุมชนต่างๆ ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ชุมชนได้ใช้ศูนย์รวมทางสังคม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ราชการต่างๆ
เป็นที่ๆ ชุมชนสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 11 ซึ่งว่าด้วยเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ต่อไป ในยามที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 มีจำนวนมากจนไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่ม
“บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินข่าวว่า “คนเคยป่วย”หรือผู้ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 แม้จะหายจากโรคแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจที่มีต่อโรคโควิด-19 ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เคยเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคแล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อโรค และจะไม่แพร่กระจายสู่ผู้อื่น" รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ที่สามารถบอกเล่าให้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ให้ทราบได้ว่าควรจะดูแลตัวเองอย่างไร ซึ่งการได้มาทำหน้าที่จิตอาสาจะทำให้ผู้เคยติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหายจากโรคแล้วเหล่านี้หรือ"คนเคยป่วย"เกิดความรู้สึกมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
"แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้มีหลายสายพันธุ์ จึงยังคงต้องมีการป้องกันอย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อและป่วยอีก” รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข กล่าว
ซึ่งในการอบรมออนไลน์โครงการ “ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย” ได้มีการจัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 แบบมีส่วนร่วม เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด เพื่อทดลองใช้ประกอบการสาธิตวิธีการใช้ทางออนไลน์
นอกจากนี้ ยังได้แนะนำถึงวิธีการจัดการสิ่งแวดล้อม และทำอย่างไรให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้โดยที่ตัวเองไม่ติดเชื้อ
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ได้กล่าวถึงกรณีเมื่อพบผู้ป่วย COVID-19 นอนหมดสติอยู่ข้างทางว่า ไม่ควรผลีผลามเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่ได้สวมชุดป้องกัน ควรสังเกตการเคลื่อนไหวของหน้าอกผู้ป่วยว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ แล้วรีบโทรเรียก 1669 เพื่อให้มีการช่วยเหลือด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสม และส่งต่อให้เร็วที่สุด
ต่อจากการจัดฝึกอบรมออนไลน์โครงการ “ติดอาวุธนักรบเส้นด้าย” นี้ จะได้มีการขยายผลสู่การดูแลผู้ป่วย COVID-19 ในกลุ่มสีเหลืองเข้มที่ต้องคอยประเมินอาการ ก่อนส่งต่อให้เข้ารับการปรึกษาอาการจากทีมแพทย์ และส่งต่อโรงพยาบาลในกรณีฉุกเฉินต่อไป