ข่าว

อดีตประธานเครือข่ายนิติเวช เสนอ 2 แนวทาง เขียน "หนังสือรับรองการเสียชีวิต"

อดีตประธานเครือข่ายนิติเวช เสนอ 2 แนวทาง เขียน "หนังสือรับรองการเสียชีวิต"

26 ส.ค. 2564

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตประธานเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ประเทศไทย เสนอ 2 แนวทาง เขียน "หนังสือรับรองการเสียชีวิต" จากคดีดัง ผู้กำกับโจ้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อดีตหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล อดีตประธานเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ประเทศไทย เสนอ 2 แนวทาง เรื่องของการเขียน "หนังสือรับรองการเสียชีวิต" ในกรณีที่ยังไม่ทราบสาเหตุ สืบเนื่องจากประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันในคดีฉาว "ผู้กำกับโจ้" พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาจนเสียชีวิต โดยในหนังสือรับรองการตายนั้นเขียนระบุว่า "เสียชีวิตจากพิษสารแอมเฟตามีน" 

 

 

 

โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อำนาจ กุสลานันท์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "อำนาจ กุสลานันท์" ระบุว่า การเขียน "หนังสือรับรองการตาย" (ท.ร. 4/1) เรื่องที่ทำให้แพทย์ลำบากใจ

 

บ่อยครั้งที่แพทย์จะรู้สึกอึดอัดใจเมื่อต้องลงสาเหตุตายใน ท.ร. 4/1 เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าตายด้วยสาเหตุใด 

 

แต่จะลงไปตามความเป็นจริงว่า "ยังไม่ทราบสาเหตุ" ก็ไม่ได้ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่จะไม่รับแจ้ง โดยอ้างว่าจะทำให้เก็บสถิติไม่ได้ แพทย์จึงต้องหาทางออก ที่ส่วนใหญ่ใช้กันอยู่มี 2 รูปแบบ คือ 

 

1.สันนิษฐานเอา เช่น ตรวจพบสารใดในปัสสาวะหรือเลือด ก็คาดเดาเอาว่าตายจากเหตุนั้น ๆ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสผิดพลาดได้ไม่น้อย 

2.เขียนเป็นกลไกการตายแทนว่า "ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว" 

 

ซึ่งในอดีตผมได้เคยเสนอความเห็นไปแล้วว่าทั้ง 2 วิธีดังกล่าวจะยิ่งจะทำให้สถิติคลาดเคลื่อนไปเสียยิ่งกว่าการลงไปตามความจริงว่า "ยังไม่ทราบสาเหตุตาย ต้องรอผลการผ่าตรวจศพ" 

 

 

ขณะนี้ได้มีคดีใหญ่และเกิดปัญหาขึ้นอีกแล้ว ผมจึงขอเสนอให้มีการแก้ไขดังนี้ 

 

1.ต่อไปกรณีที่ยังไม่ทราบสาเหตุตายและรอผลการตรวจศพและ/หรือผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แพทย์ควรเขียนว่า "ยังไม่ทราบสาเหตุตาย ต้องรอผลการตรวจศพโดยละเอียด" 

2.ต่อไปขอให้ผู้บริหารมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับแจ้งกรณีที่แพทย์เขียนหนังสือรับรองการตาย (ท.ร. 4/1) ไปตามความเป็นจริงดังกล่าว โดยออกมรณบัตรให้ญาติไปก่อน ส่วนสถิตินั้นให้ลงภายหลังเมื่อได้สาเหตุตายที่แน่ชัด โดยมีการประสานกับ รพ.ที่ทำการผ่าศพชันสูตร ซึ่งจะได้ผลในเวลาประมาณหนึ่งเดือน 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งทางสถิติและทางคดี เพราะเอกสารทุกฉบับอาจถูกนำขึ้นสู่ศาลได้ทั้งสิ้น จึงเรียนเสนอ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้โปรดพิจารณาดำเนินการด่วนให้เสร็จสิ้นก่อนที่ท่านจะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง 

 

อดีตประธานเครือข่ายนิติเวช เสนอ 2 แนวทาง เขียน \"หนังสือรับรองการเสียชีวิต\"
 

 

ที่มา FB อำนาจ กุสลานันท์