ข่าว

“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แนวคิดสวยหรู ดูดี ของเล่นใหม่ศธ.

“หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แนวคิดสวยหรู ดูดี ของเล่นใหม่ศธ.

27 ส.ค. 2564

ผู้บริหารจะเอาแบบนี้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แต่ครูไม่มีส่วนร่วม สุดท้ายไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำให้ครูเสียเวลา เด็กเสียโอกาส การศึกษาไทยเวลาหมดไปกับการหลงทาง.... กมลทิพย์ ใบเงิน... รายงาน

ลำพังการรับมือจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้นักเรียนมีคุณภาพ ในยุคการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มาปีกว่า คุณครูค่อนประเทศก็ตกอยู่ใน “ความเครียด” ไม่ด้อยไปกว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ตกงานขาดรายได้ แต่ “คุณครู” ยังต้องมารับรู้นโยบายเร่งด่วนจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่ต้องลงมือปฏิบัติทันที

     

 

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการวางแผนนำ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ไปใช้โดยเริ่มในปีการศึกษา 2565 จะมีกรอบการใช้ 3 ปีที่จะครบทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในปีการศึกษา 2567 และคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564

 

 

หลักสูตรฐานสมรรถนะ คืออะไร  เป็นคำถามที่ “คุณครู” ส่วนมากตอบไม่ได้ รับรู้เพียงว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนของ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อสั่งการให้ดำเนินการ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของ “องค์กรครู” และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเหตุผลหลายประการ

นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์  ได้สะท้อนความไม่เห็นด้วยขององค์กรครู ในชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนประมาณ 32,000 สมาชิก และแชร์ไปยังชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกจำนวนประมาณ 119,000 สมาชิก ปรากฏว่า ครูส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เป็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” หรือมีส่วนร่วมอยู่ในระดับน้อยที่สุด

     

 

เข้าทำนองสุภาษิตไทย “คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด ” ครูเป็นผู้สอนต้องใช้หลักสูตรใหม่ แต่กลับไม่มีส่วนร่วม ผิดกระบวนการออกหลักสูตร และเรียกร้องให้ นางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้มีอำนาจเหนือกระทรวงศึกษาธิการ ได้โปรดทำการทบทวนในเรื่องนี้ด่วน 

    

 

ดูเหมือนว่า จนถึงวันนี้  ยังไม่มีความชัดเจนจากนักการเมืองฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการ  รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ

เกี่ยวกับการจะนำ"หลักสูตรฐานสมรรถนะ" มาใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นั้น  ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาด้านการศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดหลักการสวยหรูดูดีมาก เป็นการปรับการเรียนการสอน ที่ผู้สอนหรือคุณครูไม่สอนนักเรียนให้มีความรู้เพียงอย่างเดียว

 

 

แต่การเรียนรู้ของนักเรียนต้องเป็นการเพิ่มขึดความสามารถในการทำงาน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันได้ดี

 

 

ศ.ดร.กนก  แจกแจงอีกว่า โลกของการทำงานและแก้ไขปัญหาไม่ใช้ความรู้วิชาเดียว แต่บูรณาการใช้หลายวิชา เช่น ต้องการให้นักเรียนค้าขายเป็น นักเรียนต้องเรียนรู้หลายวิชา

 

อาทิ 1.วิชาคณิตศาสตร์เพื่อคิดคำนวน 2.มีความรู้เรื่องสินค้าที่จะขาย เป็นสินค้าที่ลูกค้าหรือตลาดต้องการหรือไม่ 3.นักเรียนต้องเรียนวิชาบัญชีเพื่อให้มีความต้นทุนการผลิต กำไร ขาดทุน รายรับ รายจ่าย ฯลฯ จึงบอกได้ว่านักเรียนมีสมรรถนะทางด้านการค้าขาย แต่วิชาเรียนในอดีตสอนแยกส่วนไม่บูรณาการ

 

“แนวคิดและหลักการผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่คุณครูของเรามีความพร้อม มีความรู้ ความสามารถที่จะสอนหรือไม่ ผมถามกลับกระทรวงศึกษาธิการ นี่คือปัญหาใหญ่ รัฐมนตรีศึกษาฯเดินไปข้างหน้า แต่ต้องย้อนกลับมาสำรวจดูว่าฝ่ายปฏิบัติพร้อมที่จะเดินตามหรือไม่ ขอให้สติผู้บริหารศธ.ไว้ 2 ประการ ดังนี้”ศ.ดร.กนก วิพากษ์การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะมาใช้ในระบบการศึกษาไทย

 

 

1.ศธ.อย่าตื่นเต้นแนวคิดใหม่จากต่างประเทศและเร่งรีบนำมาใช้กับการศึกษาประเทศไทย เพราะในอดีตเคยล้มเหลวมาแล้ว

2.ศธ.ควรกลับไปให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานความรู้แต่ละวิชาให้ถูกต้อง เช่น  วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย  วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ฯลฯ สอนให้นักเรียนมีความรู้ รู้จักการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น เมื่อพื้นฐานแน่นแล้วสามารถบูรณาการแต่ละวิชาเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง

 

 

"คุณครูภายใต้วัฒนธรรมศธ. เมื่อบังคับให้ทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ครูก็ต้องเอาตัวรอด เน้นเขียนรายงาน การจดบันทึกให้ดี เมื่อผู้บริหารมาประเมินจะได้ผ่านที่เขียนไว้ แต่คุณภาพการศึกษาของนักเรียนไม่ดีขึ้น สุดท้ายไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร    ทำให้ครูเสียเวลา เด็กเสียโอกาส แต่การจะให้ครูมายอมรับว่าไม่รู้เรื่องก็ไม่ได้ นี่คือของเล่นใหม่ศธ. มาอีกแล้ว เราหมดเวลากับการหลงทางมาตลอด การศึกษาไทยจึงไม่พัฒนาและไปไม่ถึงไหน" ศ.ดร.กนก ระบุ

 

 

ศ.ดร.กนก ตั้งข้อสังเกตว่า หากไทยเรียนรู้จากประเทศในกลุ่มเอเชีย อย่างเช่นการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ และญี่ปุ่น เขาใช้เวลาในการปูพื้นฐานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและด้านอาชีวะศึกษา นานร่วม 20 ปี ที่เน้นภาษา ความีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ฯลฯ เมื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานแข็งแกร่งแล้วถึงมาให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา

 

 

" ผู้บริหารบอกจะเอาหลักสูตรฐานสมรรถนะแบบนี้นะ ครูตามไม่ทัน เพราะไม่ให้ครูได้มีส่วนร่วมในช่วงการร่างหลักสูตร ผมท้าเลยนะลองให้เลขาธิการกพฐ.มาสอนหลักสูตรฐานสมรรถนะนักเรียนมัธยมศึกษา เพื่อสร้างสมรรถลองมาสอนผมจะมานั่งเรียน ดูซิว่าเลขาธิการกพฐ.สอนเด็กแล้วทำได้ไหม"ศ.ดร.กนก ฝากให้คิด