ข่าว

เจออีก ไม่ต่างคดี "ผู้กำกับโจ้" ทหารทรมานผู้ต้องสงสัยค้ายาจนเสียชีวิต

เจออีก ไม่ต่างคดี "ผู้กำกับโจ้" ทหารทรมานผู้ต้องสงสัยค้ายาจนเสียชีวิต

30 ส.ค. 2564

ครม.รับทราบรายงาน ทหารทรมานผู้ต้องสงสัยยาเสพติดเสียชีวิต ไม่ต่างกับคดี "ผู้กำกับโจ้" เด้งรับลูกกสม.ปรับปรุงกฏหมายแก้ปัญหาการทารุณกรรม

 

ประจวบเหมาะเสียเหลือเกิน หลังเกิดคดีครึกโครมสั่นสะเทือนวงการตำรวจ กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้" อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสววรรค์ ได้มีพฤติการณ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต จนกลายเป็นข่าวเกรียวกราว  

 

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้กสม.ทราบต่อไป
      
      

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากรายงานกสม.ฉบับดังกล่าว ได้เปิดเผยพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหาร น่าจะกระทำการเข้าข่ายทรมานผู้ถูกควบคุมจนเสียชีวิต และเร่งให้ครม.ต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน 

 

รายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุไว้ดังนี้ 


กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่ายพระยาสุรทรธรรมธาดาได้เข้าจับกุมชายผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด จำนวน 2 ราย โดยได้นำตัวไปควบคุมเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดที่วัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม

 

โดยมีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมทั้งสองจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต่อมาหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตภายหลังจากที่ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม

 

ผู้ร้องเห็นว่า การซ้อมทรมานหรือการทำร้ายร่างกายบุคคลจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตซึ่งเกิดจากการกระทำหรือการรู้เห็นยินยอมของเจ้าหน้าที่ของรัฐถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงตามกฎหมายระหว่างประเทศ


 

   

โดยเฉพาะภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2550 ประกอบกับที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ แต่ผู้กระทำผิดมักลอยนวล เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากผู้บังคับบัญชา ทำให้การกระทำทรมานบุคคลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งในท้องที่ต่าง ๆ ของประเทศ กสม. จึงขอให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

 

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดาน่าจะกระทำการเข้าข่ายเป็นการทรมานผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองด้วยการซ้อมรุมทำร้ายหรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายหลายครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่ในระหว่างการจับกุมจนกระทั่งควบคุมตัวเพื่อซักถามข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมุ่งประสงค์ให้ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสองรับสารภาพหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของยาเสพติดเพื่อขยายผลไปถึงเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้เสพยาเสพติดรายอื่น ๆ อันเป็นการก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ตามนิยามของการทรมาน และยังเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฎิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวทั้งสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ และขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
    

ทั้งนี้ นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว

 

โดยให้ ยธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

ต่อมา ยธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กห. พม. มท. สธ. สคก. ตช. อส. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผลสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้

 

จากการที่กสม.เสนอแนะให้ครม.พิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2558 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดพ.ศ.2519 และคำสั่งคสช.ที่ 13/ 2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการสืบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดทางอาญาอื่น เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดกฎหมายอาญาเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ โดยให้เป็นหน้าที่และอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจรวมถึงเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายปกติ 

 

ประเด็นนี้ ครม.ได้ชี้แจงกสม.ว่า  การออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปเพื่อการป้องกัน ระงับ ปราบปรามการบ่อนทำลาย เศรษฐกิจ สังคม ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสุจริตชน ในปัจจุบันการให้อำนาจพิเศษตามคำสั่งดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ยังคงมีความจำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งฯ ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การบังคับใช้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

กสม. ยังได้เสนอแนะว่า ครม.ควรจัดความสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ไว้เป็นลำดับแรก เพื่อให้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปโดยเร็ว โดยนำหลักการและสาระสำคัญตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญไปบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

 

โดยเฉพาะการกำหนดความรับผิดทางอาญาแก่ผู้บังคับบัญชาที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการซ้อมทรมาน ไม่ดำเนินการป้องกันหรือระงับการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือปกปิดข้อเท็จจริงไม่ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อสอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งกำหนดให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและคดีที่เกี่ยวกับการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 

โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพตลอดจนมีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดแบบบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนที่เป็นอิสระและเป็นกลาง องค์กรอัยการ หน่วยงานแพทย์ที่เป็นอิสระและมีความเชี่ยวชาญ และภาคประชาชน

 

นอกจากนี้ กสม.เสนอ ครม.ควรมอบหมายให้ ยธ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานแบบบูรณาการระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนสอบสวนการกระทำผิดในกรณีที่มีข้อสงสัยเรื่องการซ้อมทรมานบุคคล กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน รวมถึงกรณีที่กล่าวอ้างว่ามีการกระทำให้บุคคลสูญหาย พร้อมทั้งจัดทำโครงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

โดยนำหลักการตามคู่มือการสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิผลกรณีการกระทำทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี หรือพิธีสารอิสตันบูลมาใช้ในการจัดทำแนวทางการสืบสวนสอบสวนและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักประกันในการป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและสอบสวน ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดไม่ให้เกิดกรณีการลอยนวลพ้นผิด

 

ข้อเสนอของกสม.ข้างต้น  ทำให้ กระทรวงยุติธรรม(ยธ.) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพชี้แจงว่า  ได้ยกร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวขึ้นตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งมีสาระสำคัญสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว

 

ทั้งนี้ ยธ. ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 25 ม.ค.  64 และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุวิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)

 

กระทรวงยุติธรรม  โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจ และการฝึกอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กฎการใช้กำลังหลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ มาตรการสืบสวนสอบสวนตามมาตรฐานสากล กลไกการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ นอกจากนี้ ยังได้เน้นการจัดฝึกอบรมในรูปแบบเฉพาะทางให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน

 

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ การฝึกอบรมหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับนายทหารเหล่าทหารพระธรรมนูญ การฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนสอบสวนแนวใหม่ การฝึกอบรมเทคนิคการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาร่องรอยจากการทรมานฯ และการบังคับให้บุคคลสูญหายตามแนวทางของพิธีสารมินนิสโซต้าและพิธีสารอิสตันบูลให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและบุคลากรทางการแพทย์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่ายและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพผ่านกลไกบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) รวมทั้งได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ

 

อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มหาวิทยาลัยนเรศวร โรงเรียนเตรียมทหาร สภาคริสตจักรในประเทศไทย และกลุ่มโรงเรียนในเครือสารสาสน์ รวมถึงผลักดันให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวในหลักสูตรพัฒนาหรือเลื่อนขั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรู้สิทธิ รู้หน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิผู้อื่นโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีแนวโน้มลดลง