ข่าว

ผู้นำฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซัด "นายกฯ" บริหารผิดพลาดร้ายแรง

ผู้นำฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซัด "นายกฯ" บริหารผิดพลาดร้ายแรง

31 ส.ค. 2564

ผู้นำฝ่ายค้าน สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ซัด "นายกฯ" บริหารประเทศผิดพลาดร้ายแรง แก้โควิดล้มเหลว มีพฤติการณ์ ค้าความตาย

 

 

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

 

 

ซึ่งเมื่อเริ่มอ่านรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายนายสมพงษ์ได้อ่านชื่อ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  "นายกรัฐมนตรี" และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผิด เป็น "พลเอกประยุทธ์ ยงใจยุทธ" ถึง 2 ครั้ง ก่อนจะกล่าวแก้ไข และไล่เรียงรายชื่อรัฐมนตรีจนครบ 6 คน 
 

 

 

โดยข้อกล่าวหา พลเอกประยุทธ์ "นายกรัฐมนตรี" คือเป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรม ไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลวผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคมในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

 

 

โดยเฉพาะเวลาที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหา โควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ "นายกรัฐมนตรี"รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไว้เพียงผู้เดียว แต่ที่ผ่านมากลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและทุจริตฉ้อฉลต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

 

 

มีประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขไทยล้มเหลวเกินขีดความสามารถในการให้บริการประชาชน ประชาชนต้องดูแลตัวเองที่บ้านบางรายทนไม่ไหวต้องตาย ข้างถนนหรือตายคาบ้าน

 

 

ในขณะที่พลเอกประยุทธ์ "นายกรัฐมนตรี" รู้ดีว่าการรับมือคือการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนแต่ก็พบปัญหาล่าช้าวัคซีนไร้ประสิทธิภาพ เครื่องมือในการตรวจหาเชื้อไม่เพียงพอ ประชาชนและภาคธุรกิจได้รับความเสียหายจากมาตรการของรัฐ

 

 

คือการล็อกดาวน์สั่งปิดสถานที่ต่างๆ งบประมาณหมดไปกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งที่ประเทศตกอยู่ในสงครามโรคระบาดไม่ใช่ สงครามสู้รบ
 

 

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายเงินกู้และงบประมาณที่ไม่รักษา วินัยการเงินการคลังสร้างภาระหนี้สาธารณะจนชนเพดาน และหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ มีพฤติกรรมปิดบังอำพรางตรวจสอบไม่ได้ อีกทั้งแอบอ้างว่ามีวัคซีนของบริษัทในพระปรมาภิไธยมาฉีดให้กับประชาชนเป็น การทำลายความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันฯ 

 

 

ซึ่งในระหว่างนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ได้ยกมือขึ้นประท้วง ว่าถ้อยคำที่แถลงมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ และนำมาเกี่ยวข้องการเมือง แม้จะอ่านตามญัตติได้แต่เป็นห่วงว่าสมาชิกฝ่ายค้านจะนำข้อความนี้ไปอภิปรายและใช้เหตุผลว่าประธานสภาอนุญาตแล้ว ดังนั้นตนจึงเห็นว่าบางถ้อยคำที่เกี่ยวกับสถาบันตนไม่เห็นด้วยที่จะให้อนุญาตให้สมาชิกอภิปราย

 

 

นายสมพงษ์ได้กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ "นายกฯ"ยังปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตวัคซีน อีกทั้งยังมีพฤติการณ์ "ค้าความตาย"

 

 

ทำให้นายไพบูลย์ นิติตะวันลุกขึ้น ประท้วงอีกครั้งว่าการกล่าวหาดังกล่าว เป็นการใส่ความและมีลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ โดยนายชวนหลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ชี้แจงว่าข้อประท้วงของนายไพบูลย์ไม่มีเหตุผล และประธานมีหน้าที่ดูแลให้ทุกคน จะทำตามหน้าที่ และอนุญาตให้นายสมพงษ์อ่านญัตติต่อได้ 

 

 

อย่างไรก็ตามนายไพบูลย์ ยังลุกประท้วงอีกครั้งเมื่อนายผู้นำฝ่ายค้าน อ่านญัตติถึงคำว่า "ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด" เพราะมองว่าการใช้คำว่าโง่ ไม่ควรนำมาใช้ในญัตติ เพราะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ควรนำมาใช้ในสภาฯ

 

 

ทำให้ประธานชวน ชี้แจงต่อสมาชิกว่าข้อกล่าวหาไม่ว่าจะหนักหรือเบา เมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิ์ที่จะตอบได้ทุก
ประเด็นด้วยน้ำหนักเท่ากัน เพราะฉะนั้นหากฝ่ายที่ถูกกล่าวหาไม่ประเมินคนของตัวเองต่ำเกินไป ขออย่าประท้วง เพราะเชื่อว่าการตอบการชี้แจงจากเกิดขึ้น

 

 

แต่ตามสิทธิ์ แม้นายไพบูลย์จะประท้วงโดยไม่ผิดกฎข้อบังคับแต่ทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น แล้วต้องให้โอกาสแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน