เด่นโซเชียล

"WHO" เฝ้าจับตา "มิว" โควิด-19 พันธุ์ใหม่ หวั่นกลายพันธุ์อีก

"WHO" เฝ้าจับตา "มิว" โควิด-19 พันธุ์ใหม่ หวั่นกลายพันธุ์อีก

01 ก.ย. 2564

"องค์การอนามัยโลก" (WHO) ระบุว่ากำลังเฝ้าจับตาเชื้อ "โควิด-19" สายพันธุ์ใหม่ “มิว (Mu)” ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบีย เมื่อช่วงเดือน ม.ค.64

"องค์การอนามัยโลก" (ดับเบิลยูเอชโอ) แถลงเมื่อวันอังคารที่ 31 สค.64 โดยเผยว่า โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์มิว (Mu) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.621 ถูกจัดให้เป็น “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ” หลังมีข่าวว่า ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในเบลเยียมจำนวน 7 คน ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์ B.1.621 นี้ 

 

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน สาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ดังกล่าว โดยระบุว่า B.1.621 เป็นโควิด-19 อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่หลบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติและที่เกิดจากวัคซีนได้

อีกทั้งมีการกลายพันธุ์ที่บ่งชี้ว่า มีความเสี่ยงต้านทานวัคซีนได้ แต่ก็ย้ำว่าจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ดีกว่านี้

 

 

ขณะนี้ทาง "องค์การอนามัยโลก" มีความกังวลอย่างมากเรื่องโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ๆ เมื่ออัตราการติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง สายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อได้ง่ายระบาดหนัก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และในภูมิภาคที่ผ่อนคลายมาตรการต้านโควิด

 

ปัจจุบัน ดับเบิลยูเอชโอระบุให้ไวรัส 4 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึงสายพันธุ์อัลฟา ที่พบใน 193 ประเทศ และสายพันธุ์เดลตา พบใน 170 ประเทศ รวมถึงกำลังจับตาอีก 5 สายพันธุ์รวมถึงสายพันธุ์มิว หรือ B.1.621 ซึ่งสายพันธุ์นี้หลังจากพบที่โคลอมเบียก็มีรายงานว่า พบในประเทศอเมริกาใต้อื่นๆ และในยุโรปด้วย

 

 

\"WHO\" เฝ้าจับตา \"มิว\" โควิด-19 พันธุ์ใหม่ หวั่นกลายพันธุ์อีก

 

ดับเบิลยูเอชโอยังแถลงอีกว่า ความชุกจากลำดับพันธุกรรมในผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลงเหลือไม่ถึง 0.1% แต่ในโคลอมเบียยังอยู่ที่ 39%

 

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์นี้ แต่ก็จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยพื้นที่ใกล้กับไทย ที่พบการระบาดคือฮ่องกงและญี่ปุ่น พบที่ละ 2 ราย