ซักฟอก ศักดิ์สยาม "เขากระโดง" ภาค 2 ทับซ้อนพื้นที่การรถไฟฯ
ส.ส. ประชาชาติ ซักฟอก ศักดิ์สยาม "เขากระโดง" ภาค 2 ทับซ้อนพื้นที่การรถไฟฯ หลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและไม่สามารถออกโฉนดได้ ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่าหมื่นล้าน จี้ถามจริยธรรมโยงนายกฯรับผิดชอบร่วม
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปราย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เข้าบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐเพื่อนำมาเป็นของตนและเครือญาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง โดยอภิปรายให้ฟังว่าข้อกล่าวหาที่หยิบยกขึ้นมา ประเทศชาติเสียหายอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เดียร์ วทันยา ชี้ ในที่สุด ความจริง พิสูจน์จุดยืน-อุดมการณ์ งดโหวต"ศักดิ์สยาม" ปมที่ดินเขากระโดง
- สพ.รฟ. เริ่มเคลื่อนแล้ว รับซักฟอก ศักดิ์สยาม ทวงที่ดิน"เขากระโดง"
- ศักดิ์สยาม หนาว อภิปรายไม่ไว้วางใจ สหภาพฯรถไฟบี้คืนที่ดิน"เขากระโดง"
ส่วนนายก ฯ ตนขอตั้งข้อกล่าวในฐานะผู้บังคับบัญชา หัวหน้ารัฐบาล ปล่อยปละละเลยให้รัฐมนตรีกระทำการทุจริตต่อหน้าที่และจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
และปล่อยให้ใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกันโดยไม่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้เคยอภิปรายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ และตนจะอภิปรายในภาค 2 ที่ดินเขากระโดง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีเนื้อที่ 5,083 ไร่ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดวางรางรถไฟและทางหลวง พ.ศ. 2462 ตามมาตรา 3 (2)
ปัจจุบันมีประชาชนรวมถึง รมว.คมนาคมและเครือญาติอยู่ในที่ดินแปลงนี้ด้วยซึ่งรัฐมนตรีได้แจ้งที่อยู่ต่อรัฐสภาซึ่งตั้งอยู่ในเขากระโดง ซึ่งสิ่งที่จะชี้ว่าเป็นที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟคือคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2541
และเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2554 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนแล้วเห็นว่าโฉนดเลขที่ 8564 เนื้อที่ 37 ไร่ ซึ่งเป็นที่พักของ รมว.คมนาคม เป็นที่ของการรถไฟและได้เสนอแนะให้การรถไฟฟ้องขับไล่
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกาปี วันที่ 16 ก.ค. 2560 พิพากษาขับไล่รื้อถอนและให้ชดใช้ค่าเสียหาย 35 ราย
และอีกคำพิพากษาของศาลฎีกาวันที่ 22 พ.ย. 2561 พิพากษาขับไล่รื้อถอนและให้ชดใช้ค่าเสียหายและศาลฎีกา จ.บุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 กับราษฎรที่ไปยื่นขอเอกสารสิทธิ์และศาลพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ของการรถไฟ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ยืนยันว่าที่ดินที่รัฐมนตรีและเครือญาติกำลังทำธุรกิจอยู่นั้นเป็นที่ของการรถไฟ
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเองแต่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาและหากอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้ง 2 คดี ได้วินิจฉัยชัดเจนว่าที่อื่นบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ของการรถไฟ
ทั้งนี้ตนได้มีการติดตามรัฐมนตรีในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลการรถไฟจะมีการแอคชันหรือดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้ประมวลจริยธรรมอย่างไรบ้างปรากฏว่า 2-3 เดือนหลังการอภิปรายครั้งแรกยังไม่มีความคืบหน้า
และเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพิ่งมีหนังสือถึงกรมที่ดินให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 5,000 กว่าไร่นี้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 โดยอ้างคำสั่ง ป.ป.ช. และคำสั่งศาลฎีกา ซึ่ง รมว.คมนาคมและเครือญาติก็รู้มาตั้งแต่ต้นแต่ก็ยังอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว และทำธุรกิจอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา กรมที่ดินมีหนังสือตอบกลับมายังการรถไฟฯ ว่า การจะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ตามประมวลกฎมายที่ดินมาตรา 61 กับเอกสารสิทธิ์ที่มีอยู่บนที่ดินประชาชนครอบครอง
รวมถึงที่ดินของรัฐมนตรีที่ครอบครองอยู่ด้วย ขอเอกสารเพิ่มเติมยังไม่สามารถดำเนินการได้ ตอนนี้รอให้การรถไฟส่งรูประวางแผนที่เพิ่มเติม รวมถึงรายชื่อของคนที่ครอบครองในที่ดิน
โดยประเด็นที่น่าสนใจของหนังสือฉบับนี้คือในย่อหน้าสุดท้าย ระบุว่าอนึ่ง กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้การรถไฟดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลให้เพิกถอนโฉนดเลขที่ 3466 และ 8564 กรมที่ดินขอทราบเหตุผลที่ทางการรถไฟไม่ดำเนินการฟ้องคดี เพื่อให้เป็นไปตามความเห็นของอัยการสูงสุด ก่อนที่จะมีการพิจารณาเพิกถอนตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61
นายกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาของญัตติไม่ไว้วางใจ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ในตำแหน่งทำไมท่านไม่ฟ้องตัวเอง หรือทำไมไม่ฟ้องเครือญาติที่อยู่ที่นั่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่การรถไฟคืน ตนไม่ได้เจตนาขับไล่ประชาชนที่อยู่ที่นั่น ซึ่งตนขอเสนอแนะไปยังรัฐมนตรี ซึ่งท่านต้องมีสปิริตในการฟ้องตัวเอง
ทั้งนี้เมื่อเห็นหนังสือ 2 ฉบับที่การรถไฟเพิ่งขยับเมื่อเดือน มิ.ย. และกรมที่ดินมีหนังสือตอบกลับ ถ้าภาษาฟุตบอลเรียกสับขาหลอก เพราะอย่างน้อยเมื่อถูกอภิปรายจะได้บอกว่าทำแล้ว คดีที่ศาลฎีกา
พิพากษาแล้ว ทั้ง 35 คนเวลานี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ตนไม่รู้ว่าท่านมีผลประโยชน์อะไรกับที่ตรงนี้ จึงไม่สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการใด ๆ เลย
ตนคิดคำนวณค่าเสียหายคดีนี้ตามที่ศาลฎีกาพิพากษา 20 กว่าล้านบาท หากเกรงประชาชนไม่มีที่อยู่ ก็ทำสัญญาเช่ากับการรถไฟเสีย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยอย่างนี้ ในที่ดินที่ท่านพักอาศัยอยู่ก็ไม่มีการ
ดำเนินการใด ๆ เช่นกัน
นายกมลศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามล่าสุด 4 ชุมชนใน กทม.ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ถูกการรถไฟฟ้อง เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อเร่งรัดให้มีการสร้างทางรถไฟ เป็นความไม่เท่าเทียมกันของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่ถูกกรมอุทยานฯ ฟ้องขับไล่จากพื้นที่ป่า
ยิ่งรัฐมนตรีเพิกเฉยการรถไฟยิ่งเสียผลประโยชน์เพราะมูลค่าประเมินที่ดินกว่าหมื่นล้านบาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของประเทศชาติ
ดังนั้นรัฐมนตรีต้องมีมาตรฐานจริยธรรมอย่างสูงทั้งนี้นายกรัฐมนตรีต้องบริหารราชการโดยใช้หลักความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 หลังการอภิปรายวันนี้ตนอยากได้ยินรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อสภาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับที่ดินเขากระโดง
ทั้งนี้ระหว่างนายกมลศักดิ์อภิปราย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วงนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมเป็นระยะว่าต้องควบคุมการประชุมอย่างเคร่งครัด
เพราะผู้อภิปรายกำลังอภิปรายบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือพูดความจริงไม่ถึงครึ่ง ทำให้มีความเข้าใจว่า รมว.คมนาคม คือ ผู้ถูกฟ้องร้อง เป็นการเอาหนังเก่ามาฉายซ้ำสร้างความคลุมเครือว่าเป็นหนังใหม่ ทั้งนี้ประธานที่ประชุมได้วินิจฉัยว่า สามารถอภิปรายได้ เพราะถึงอย่างไรรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงก็ต้องชี้แจง