เด่นโซเชียล

"งดกินร่วมกัน" ทำได้น้อยที่สุด 1 ใน 10 การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล

"งดกินร่วมกัน" ทำได้น้อยที่สุด 1 ใน 10 การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล

03 ก.ย. 2564

ผลสำรวจอนามัยโพล ชี้ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) "งดกินร่วมกัน" 1 ใน 10 ข้อ ทำได้น้อยที่สุด

นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ยังขยายเป็นวงกว้างและมีความต่อเนื่องในช่วงนี้ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เป็นมาตรการที่ขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะจากผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็น คิดเห็นอย่างไร กับมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19) โดยได้แบ่งการสอบถามเป็น 2 กลุ่ม คือ เจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน และอีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 1 กันยายน 2564 พบว่า พฤติกรรมที่กลุ่มเจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน ส่วนใหญ่

  • ทำได้มากที่สุด คือ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ร้อยละ 89.2 รองลงมา คือ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ร้อยละ 83.5
  • ทำได้น้อยที่สุด คือ "งดกินร่วมกัน" ร้อยละ 66.9

 

 

 

สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป พบว่า พฤติกรรมที่ทำได้มากที่สุด คือ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ร้อยละ 83.8 รองลงมา คือ หากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง จะตรวจด้วยชุด ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ร้อยละ 76.3 ส่วนพฤติกรรมที่ทำได้น้อยที่สุด คือ "งดกินร่วมกัน" ร้อยละ 51.9

จึงเป็นจุดคุมเข้มสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือประชาชน รวมทั้งเจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน งดการกินอาหารร่วมกันไปสักระยะหนึ่งก่อน หรือให้เหลื่อมเวลากันในช่วงการกินอาหาร เลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ และแยกของใช้ส่วนตัว เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม เป็นต้น เพื่อลดการแพร่และป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19

 

 

สำหรับ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) นั้น เป็นการยกระดับการป้องกันการติดและการแพร่ของเชื้อ โควิด-19 ด้วยหลักปฏิบัติ 10 ข้อสำคัญ ดังนี้

  1. ออกจากบ้าน เมื่อจำเป็นเท่านั้น
  2. เว้นระยะห่าง จากคนอื่นอย่างน้อย 1 - 2 เมตร ทุกสถานที่
  3. สวมหน้ากากอนามัย และทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งนอกบ้านและในบ้านและเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
  4. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
  5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส หน้ากาก ใบหน้า ตา ปาก จมูก
  6. ผู้ที่เป็น กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ให้เลี่ยงออกนอกบ้าน
  7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค บนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ
  8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  9. "งดกินร่วมกัน" และเลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่
  10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน