"ลูกนัท"บุกสภาเรียกร้องผ่านร่างกม.ป้องกันอุ้ม-ทรมาน
ไฮโซ"ลูกนัท" นำตัวแทนภาคประชาชนบุกสภายื่นจม.เปิดผนึก ให้รังสิมันต์ โดม เร่งผ่านร่างกฎหมายทรมาน-อุ้มหาย โวยถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ชุมนุม
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายปกรณ์ อารีกุล หัวหน้าคณะทำงานฯ เดินทางมารับหนังสือจากตัวแทนภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมาน-อุ้มหาย ที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎร เร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในวันที่ 8 ก.ย.2564
กลุ่มภาคประชาชนยื่นหนังสือผลักดันร่างกม.ป้องโดนอุ้ม-ทรมาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจออีก ไม่ต่างคดี "ผู้กำกับโจ้" ทหารทรมานผู้ต้องสงสัยค้ายาจนเสียชีวิต
- ครม.เห็นชอบ "พ.ร.บ.ป้องกันทรมานฯ-อุ้มหาย" ไม่เป็นความผิดการเมือง
- แฉคลิปลับ "ผู้กำกับโจ้" พันตำรวจโท ส่งต่อ พันตำรวจเอก
ขณะที่นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ "ลูกนัท" กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับผลกระทบจากความรุนแรงของภาครัฐ จากสาเหตุการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โดยยกตัวอย่าง การชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมลาออก บริเวณแยกดินแดง เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง เป็นการละเมิดสิทธิ์ จึงเรียกร้องให้สภาฯเร่งพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ในสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ต่อไป
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ได้มติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีการป้องกันการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเป็นการทรมานบุคคล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้กสม.ทราบต่อไป
นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ "ลูกนัท"
โดยรายงานฉบับดังกล่าว กระทรวงยุติธรรม ได้รายงานด้วยว่า ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับ
โดยผ่านการพิจารณาจากครม. และคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64 และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุวิปรัฐบาล) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)