ศูนย์วิจัยข้าวแปดริ้ว หนุนเกษตรกรรวมกลุ่มทำ"เกษตรแปลงใหญ่"
ศูนย์วิจัยข้าวแปดริ้ว หนุนเกษตรกรรวมกลุ่มทำ"เกษตรแปลงใหญ่" เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวและเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐานจีเอพี(GAP)
ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรามีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวและปัจจัยการผลิตมีการนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดต้นทุนการผลิต เช่น การปลูกข้าวโดยใช้รถปักดำเพื่อให้ประหยัดการใช้เมล็ดพันธุ์ ลดวัชพืชในแปลงนา ป้องกันการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น
อีกทั้งยังมีการอบรมให้ความรู้เกษตรกรในเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP ระบบควบคุมภายในกลุ่ม (ICS) เพื่อส่งเสริมให้การผลิตข้าวใน"กลุ่มแปลงใหญ่"มีคุณภาพที่ดี
นายนพดารา ฟักประเสริฐ นักวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตนเองทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวดูแลเรื่องเทคโนโลยีการปลูกข้าว ในการปลูกข้าวเราต้องดูว่าน้ำมีพอเพียงตลอดฤดูกาลปลูก
และช่วงนี้จังหวัดฉะเชิงเทราฝนทิ้งช่วงทำให้เกษตรกรเกิดปัญหาเรื่องผลผลิตข้าวเพราะในการทำนาจะต้องใช้น้ำมาก การทำนาของเกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิจัยข้าวนำมาสนับสนุนเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ดีเก็บไว้ใช้ทำพันธุ์และจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร และขายให้กับโรงสี สร้างรายได้ให้เกษตรกรใน"กลุ่มแปลงใหญ่"
ในขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้น ศูนย์วิจัยข้าวฯ จะทำพันธุ์คัดที่ได้รวงข้าวมาจากนักวิจัย โดยเป็นข้าวสายพันธุ์แท้ เมื่อข้าวตกรวงคือเป็นการเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเยอะขึ้น
โดยให้คงความเป็นข้าวพันธุ์เดิมมากที่สุด คุณภาพ ลักษณะต่างๆ เหมือนเดิมโดยศูนย์วิจัยข้าว ฯ จะทำพันธุ์คัด พันธุ์หลัก พอได้สายพันธุ์ดังกล่าวจะส่งให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อนำไปทำพันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย เพื่อจำหน่ายจ่ายแจกเกษตรกรต่อไป
นายสิทธิวัฒน์ จันทรา พนักงานประจำห้องทดลอง กล่าวว่า ในการทำงานด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น จะเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องของมาตรฐานการผลิตข้าว เช่น ข้าวGAP ข้าวอินทรีย์
นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ในการตรวจประเมินแปลงของเกษตรกรที่ยื่นขอการรับรองมาตรฐานGAPข้าว มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรฐานข้าวอินทรีย์ มายังศูนย์วิจัยข้าวฯ
โดย"โครงการนาแปลงใหญ่"มุ่งเน้นให้เกษตรกรได้มีความรู้และปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ได้กำหนดไว้ และส่งเสริมให้ความรู้ในการผลิตข้าวว่าผลิตอย่างไร ให้ได้ข้าวตรงตามมาตรฐานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้
เช่น 1.แหล่งน้ำ 2.พื้นที่ปลูก 3.การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร 4.การจัดการคุณภาพข้าว 5.การเก็บเกี่ยวข้าว 6.การขนย้าย เก็บรักษา รวบรวมผลผลิต 7.การบันทึกข้อมูล เมื่อเกษตรกรได้รับการอบรมไปแล้วเกษตรกรจะได้นำหลักการที่เราอบรมให้ไปปฏิบัติใช้
เมื่อเกษตรกรพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรอง เกษตรกรจะยื่นคำขอการรับรองเข้ามายังศูนย์วิจัยข้าวฯ ศูนย์วิจัยข้าวฯจะรวบรวมข้อมูลการยื่นคำขอส่งไปกองตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวพิจารณาคำขอการรับรองและแต่งตั้งผู้ตรวจเพื่อดำเนินการตรวจประเมินเพื่อการรับรองต่อไป
จากนั้นก็จะส่งผลการตรวจประเมินไปให้คณะทบทวนการรับรองเพื่อพิจารณาผลการตรวจประเมิน ถ้าผลพิจารณาผ่านจะมีการออกใบรับรอง เกษตรกรก็สามารถนำใบรับรองไปใช้ในกลุ่มและแปลงที่ผ่านการพิจารณาตรวจประเมิน
โดยใบรับรองจะรับรองเฉพาะกลุ่มและแปลงที่ตรวจประเมินเท่านั้น โดยสามารถนำใบรับรองไปเชื่อมโยงตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตในแปลงมาตรฐานGAP ข้าว เพื่อให้ได้ราคาสูงต่อไป