นี่แหละครู นั่งเรือข้ามทะเลเพื่อนำเงิน "เยียวยา2000" ไปให้นักเรียน
รมช.ศึกษาธิการ ชื่นชมหัวใจแห่งความเสียสละของ ครูกศน. นั่งเรือข้ามทะเลอันดามันกว่า 60 ก.ม. เพื่อนำเงิน "เยียวยา2000" มอบให้นักศึกษาชาวไทยมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ย้ำกศน.เพื่อประชาชน ทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้
วันที่ 9 กันยายน 2564 ความคืบหน้ามาตรการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียนด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในภาคเรียนที่ 1/ 2564 ให้เด็กไทยทุกคน ทุกสังกัดทั้งสถานศึกษาของรัฐ-เอกชน นักเรียนกศน.ฯลฯ ซึ่งสถานศึกษาได้เริ่มทยอยจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท มาตั้งแต่วันที่ 1-10 กันยายน 2564
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจสอบสิทธิรับเงิน "เยียวยานักเรียน2000" รับเงินเต็มจำนวน เช็กด่วนที่นี่
- ด่วน! เยียวยานักเรียน 2000บาท ได้สิทธิแต่ยังไม่ได้เงิน ต้องทำอย่างไร
- "เงินเยียวยานักเรียน” ตรวจสอบสิทธิ์ที่นี่ รอรับเงินได้เลย 3กันยายนนี้
ล่าสุดมีเรื่องชวนให้ยิ้มกับการทำปฏิบัติหน้าที่ของครูกศน. แม้เส้นทางการส่งเงินเยียวยานักเรียนจำนวน 2,000 ให้ถึงมือผู้ปกครองของนักเรียน ลำบากยากเย็นอยู่แล้ว หากเป็นช่วงมรสุมหรือสภาพอากาศปิด การเดินทางของครูยากลำบากและใช้เวลามากขึ้นไปอีกแต่ครูกศน.ไม่ท้อเพื่อเด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิ์นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศึกษาธิการ) เปิดเผยถึงการจัดสรรเงินเยียวยาในโครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โดยเน้นย้ำให้จ่ายเงินเยียวยากับผู้เรียน กศน.ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) และศูนย์การเรียนชุมชน (ศรช.) ชาวไทยมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ สังกัดสำนักงาน กศน.ในพื้นที่ 14 จังหวัด เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส และตรวจสอบได้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวแสดงความชื่นชมการมีส่วนร่วมของชาว กศน. โดยเฉพาะ ครู กศน.ในศูนย์การเรียนฯ ทั้ง 14 จังหวัด (กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พังงา เพชรบุรี แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน และประจวบคีรีขันธ์)ที่ดำเนินการทยอยจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาทแก่ผู้เรียนที่ได้รับสิทธิ์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและการเรียนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ศูนย์การเรียนของ กศน. ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ทั้งบนพื้นที่สูงและเกาะแก่งกลางทะเล การเดินทางยากลำบาก
จึงต้องอาศัยหัวใจอันมุ่งมั่นของครู กศน.ในการทุ่มเทเสียสละเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับคนทุกช่วงวัยไม่ว่าจะอยู่ที่ใดของประเทศ ให้ได้รับโอกาสในการอ่านออก เขียนได้ มีความรู้ มีอาชีพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
ส่วนการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน2,000 บาทในครั้งนี้ ขอเน้นย้ำถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และขอให้ครูทุกคนแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง เพราะในสภาพแวดล้อมโดยปกติการเดินทางเข้าไปยังศูนย์การเรียนฯ ต่าง ๆ ก็ลำบากยากเย็นอยู่แล้ว หากเป็นช่วงมรสุมหรือสภาพอากาศปิด ก็จะทำให้การเดินทางของครูยากลำบากและใช้เวลามากขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงาน กศน.จังหวัดพังงาว่า ครู กศน.อำเภอคุระบุรี ได้นำเงินเยียวยาไปส่งให้ถึงมือผู้เรียน กศน. ที่ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีผู้เรียนที่ได้รับสิทธิ์ 36 คน
“ครูโอ๊ะขอแสดงความขอบคุณจากหัวใจ เพราะนอกจากครู กศน.ยังช่วยสอนเด็ก เยาวชน และประชาชาวมอแกน ที่เป็นคนกลุ่มน้อยที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รู้หนังสือ อ่านเขียนภาษาไทยได้ และมีอาชีพแล้ว ยังนั่งเรือฝ่าคลื่นลมทะเลฝั่งอันดามันระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร เพื่อปฏิบัติภารกิจมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เรียนได้สำเร็จ”ดร.กนกวรรณ กล่าว
ดร.กนกวรรณ กล่าวอีกว่า ครูกศน.ยังนำนมและอาหารกลางวันไปมอบให้กับผู้เรียน กศน.ด้วย ถือเป็นครูผู้ให้ นำนโยบายของครูโอ๊ะที่ได้มอบไว้ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พัฒนาผู้เรียน กศน.ให้อ่านออกเขียนได้ เรียบจบ มีงานทำ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สมกับคำว่า กศน.เพื่อประชาชน ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างแท้จริง”รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในที่สุด