ด่วนรัฐสภาผ่านฉลุย"ร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม" บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
ที่ประชุมรัฐสภาผ่านฉลุย "ร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม" มาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระ 3 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในการเลือกตั้ง
เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ประชุมรัฐสภา ได้มีการลงมติวาระ 3 "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม" พ.ศ. มาตรา 83 และมาตรา 91 โดยการลงคะแนนใช้วิธีเรียกชื่อของแต่ละคน และให้บุคคลนั้นขานว่า เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรือ งดออกเสียง
ปรากฏว่าผลการลงมติที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 472 เสียง มากกว่าเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่ประชุม คือ 365 เสียง
และในจำนวน 472 เสียง มีจำนวน ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีหรือพรรคฝ่ายค้านจำนวน 142 เสียง( ซึ่งมากกว่าร้อยละ 20 คือ 49 เสียง ตามที่กฎหมายกำหนด)
อีกทั้งในจำนวน 472 เสียง มีเสียงสมาชิกวุฒิสภา( ส.ว. )เห็นชอบ 149 เสียง (กฎหมายกำหนดว่าต้องได้เสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง)
ดังนั้นผลการลงคะแนนเสียงที่ออกมา คือที่ประชุมรัฐสภาผ่าน"ร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม"ในวาระ 3 ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบในการเลือกตั้ง
ทั้งนี้หากมองมาที่พรรคการเมือง ปรากฏว่าพรรคการเมืองใหญ่อย่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างออกเสียงเห็นชอบ ส่วนพรรคภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคขนาดเล็กส่วนใหญ่ งดออกเสียง
เป็นที่น่าสังเกตคือ ผบ.เหล่าทัพไม่ลงมติใด ๆ สำหรับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. และน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า วันนี้ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ไม่มาลงมติในวันนี้ หลังแถลงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี จะขอทำหน้าที่ ส.ส.เพื่อประชาชน
ขณะเดียวกันส.ส.กลุ่มของร้อยเอกเอกธรรมนัส ก็ไม่มาร่วมลงมติเช่นกัน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :ส่องเกม"แก้รัฐธรรมนูญ" ลุ้นถึงนาทีสุดท้าย
:แก้ไข ร่าง รธน. "ปมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ"
:แก้ รธน. “พรรคก้าวไกล” เสี่ยงสูง
ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญตามกฎหมายที่จะทำให้"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ" ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระ 3 มีดังนี้
1. ต้องมีเสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
2. ต้องมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 คือ 84 คน
3. มีจำนวน ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี หรือพรรคฝ่ายค้าน 20%
สำหรับขั้นตอนต่อไปภายหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบ"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ"ฉบับนี้แล้ว ประธานรัฐสภา จะได้ส่ง"ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม" ฉบับที่ 1 พุทธศักราช 2654 ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ
แต่ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น จะต้องเว้นระยะเวลาไว้ 15 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ หาก ส.ส. และ ส.ว. เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือมีประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เพื่อเสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา หรือประธานสภาที่ตนสังกัด ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวระหว่างนี้ นายกรัฐมนตรี จะยังไม่สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น