ข่าว

สภาฯรับทราบรายงาน "กองทุนสื่อ"เดินหน้าสู้เฟกนิวส์

สภาฯรับทราบรายงาน "กองทุนสื่อ"เดินหน้าสู้เฟกนิวส์

10 ก.ย. 2564

สภาผู้แทนราษฎรรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของกองทุนสื่อ พร้อมให้ข้อเสนอแนะดำเนินการเรื่อง"เฟกนิวส์" และข้อมูลโควิด 19 รวมถึงการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หนุนเดินหน้าสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 หลังข่าวปลอมระบาด กระทบประชาชน พร้อมฝากเรื่องการปลูกฝังเยาวชนคนไทยให้มีความรักความปรองดองในชาติ ขณะที่ผู้จัดการกองทุนย้ำร่วมมือกับหลายหน่วยงานป้องกันและตรวจสอบข่าวปลอม
 
(9 กันยายน 2564) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณารับทราบรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้แจงสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของกองทุนว่ามุ่งเน้นให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ 7 ด้าน ดังนี้

 

สภาฯรับทราบรายงาน \"กองทุนสื่อ\"เดินหน้าสู้เฟกนิวส์

 

1.) การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
2.) การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต
3.) มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อและปรับใช้องค์ความรู้ในการใช้ชีวิตประจำวัน
4.) ส่งเสริมการศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
5.) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง 
6.) ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและเผยแพร่สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งหมายให้เกิดผลลัพธ์ในข้อสุดท้ายคือ
7.) สังคมมีสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ภายใต้ระบบนิเวศของสื่อที่ดี ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้นำมาจัดเป็นแผนในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกองทุนฯ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ การดำเนินการในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 กองทุนได้มีการสนับสนุนการบริหารจัดการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาโดยผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เผยแพร่สู่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายมีผลงานกว่า 50 ชิ้นงาน มีการเข้าถึงหลายสิบล้านในสื่อสังคมออนไลน์โดยมุ่งหวังให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย
 

ขณะที่การดำเนินงานภายใต้การประเมินผลของกองทุนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงาน   ในภาพรวมอยู่ที่ 4.7 จากคะแนนเต็ม 5.0 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ขณะที่การประเมินผลด้านคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ในปี 2564 ได้คะแนน 93.05 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดี
 

"กองทุนได้ดำเนินงานในรูปคณะกรรมการกองทุนฯ ประกอบด้วย อนุกรรมการชุดต่างๆ และสำนักงานกองทุนฯ เพื่อเชื่อมต่อการดำเนินการ โดยพร้อมน้อมรับข้อสังเกตข้อคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำไปพัฒนาการดำเนินงานให้มีความก้าวหน้าต่อไป” นายธนกร กล่าว 
 


นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ในช่วงโควิด อยากฝากกองทุนเกี่ยวการให้ข้อมูล การตรวจสอบข่าวจริง ข่าวปลอมให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของยา เรื่องของสมุนไพรไทย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประชาชนอาจจะเกิดความสับสน เรื่องเหล่านี้อยากให้ทางกองทุนได้มีการคัดกรองและขยายผลข้อมูลที่มีความจริงให้มากยิ่งขึ้น 
  สภาฯรับทราบรายงาน \"กองทุนสื่อ\"เดินหน้าสู้เฟกนิวส์

 

นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์และการเผยแพร่ต่างๆ ทั้งเรื่องของการปลูกฝังให้เยาวชนคนไทย         มีความรู้สึกรักประเทศ รักถิ่นเกิด สร้างความรัก ความสามัคคีปรองดอง โดยเฉพาะเรื่องการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเสาหลักของประเทศไทย ดังนั้นในฐานะสื่อสร้างสรรค์ก็อยากจะให้เน้นในประเด็นนี้ส่วนการต่อยอดในคลิปต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในโลกโซเชียลก็ถือเป็นเรื่องที่ดี 
 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะใช้ช่องทางของโซเชียลมีเดียเข้าไปค้นหาข้อมูลการใช้ชีวิตการประกอบอาชีพต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงอยากให้กองทุนพิจารณาในประเด็นนี้ เพื่อให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน ทุกเพศทุกวัย ซึ่งยอมรับว่าสื่อสร้างสรรค์ถือว่ามีความสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าได้
  สภาฯรับทราบรายงาน \"กองทุนสื่อ\"เดินหน้าสู้เฟกนิวส์

 

ขณะที่ นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงการชี้แจงตัวชี้วัดและรายละเอียดที่ยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนจึงอยากให้ดำเนินการในส่วนนี้  ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าวันนี้ประชาชนสับสนจากสื่อที่ไม่มีคุณภาพ

 

“การปล่อยข่าว Fake News ข่าวปลอมซึ่งเป็นการสร้างความสับสนของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของโควิด 19 การจัดการวัคซีน การใช้สมุนไพร จึงขอฝากให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์      มีความตระหนักและมีแนวคิดในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องของการให้ความรู้ในเรื่องการใช้สมุนไพรต่อประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน 
 

นอกจากนี้ สมาชิกฯ ยังฝากกองทุนในเรื่องการบริหารจัดการกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเรื่องการส่งเสริมและเฝ้าระวัง       จึงต้องดำเนินการในเชิงรุกโดยจะต้องดูทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน สื่อโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก โดยอาจมีปรับในเรื่องของวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของกองทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงกองทุนต้องเน้นในเรื่องการสร้างสื่อในเรื่องของความกตัญญู การสร้างจิตใจให้มีความอ่อนโยน ความมีเมตตา คุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กและเยาวชนเป็นเกราะป้องกันในการรับสื่อต่างๆ
 

ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ขอบคุณทุกข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของสมาชิก โดย   จะนำไปพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนข้อห่วงใยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของข่าวปลอม โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับโควิด 19 และวัคซีน ที่ผ่านมากองทุนมีการดำเนินการในเรื่องของสถานการณ์ข่าวปลอม ซึ่งได้มีการร่วมมือในหลายโครงการกับหลายหน่วยงานทั้งทางการแพทย์ ที่มีโครงการตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอมของวัคซีนและโควิด และขณะนี้กำลังดำเนินการส่วนข่าวปลอมเกี่ยวกับสมุนไพร โดยได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับยาและสมุนไพรต่างๆ 
 

“การจัดสรรทุนในปี 2564 มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งดำเนินการโดยยึดกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ตั้ง” นายธนกร กล่าว