"สธ." ย้ำ รพ.แจก ATK ให้ ปชช. หากผลเป็นบวกต้องได้รับการดูแลถูกต้อง-รวดเร็ว
กระทรวงสาธารณสุข ย้ำหน่วยบริการ แจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง หากพบผลเป็นบวกต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ห้ามปฏิเสธการดูแล ด้าน สปสช.คาดสัปดาห์หน้าเริ่มเปิดลงทะเบียนขอรับชุดตรวจได้
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางกระจายชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) เพื่อแจกประชาชน และการจ่ายชดเชยค่าบริการสำหรับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ว่า ขณะนี้ โหมดในการใช้ชีวิตของคนไทยคือ Living with COVID หรือการใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำมี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครอบคลุมมากที่สุด แม้ไม่มีวัคซีนยี่ห้อใดในโลกที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 100% แต่สามารถป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้เกือบ 100% ดังนั้นต้องเร่งฉีดให้ครอบคลุมมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสป่วยแล้วเสียชีวิตสูง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ โดยในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์นั้น ขณะนี้ยังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่น้อยมาก ดังนั้นขอให้หน่วยบริการดูแลให้มากขึ้น
- universal prevention ให้บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สื่อสารกับประชาชนในเรื่องการป้องกันตัว ขอให้คิดเสมือนว่าตัวเองติดเชื้ออยู่แต่ยังไม่มีอาการ ต้องป้องกันตัวไม่ให้เอาเชื้อไปติดคนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องคิดเสมอว่าคนรอบๆตัวอาจมีเชื้อโควิดโดยที่ยังไม่แสดงอาการ เพราะฉะนั้นก็ต้องป้องกันตัวไม่ให้รับเชื้อจากคนอื่นเช่นกัน
- การตรวจหาเชื้อด้วย ATK เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดหนัก ในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะไม่กลับมาระบาดหนักอีก การตรวจหาเชื้อด้วย ATK จะเป็นเครื่องมือช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพราะถ้าสามารถค้นหาได้เร็ว แยกได้เร็ว แทนที่ 1 คนจะแพร่เชื้อได้ 8-9 คนก็อาจจะเหลือ 1 คนต่อ 1-2 คนหรือไม่ติดใครเพิ่มเลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "สธ." เห็นชอบ ต่อมาตรการ "เคอร์ฟิว" พร้อมเผยเป้าหมาย ฉีดวัคซีนเดือน ต.ค.
- เช็กขั้นตอนเข้ม "ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม" 43 โรงเรียน ละเอียดยิบก่อนฉีด
- เหลืออีก 112 วัน นับถอยหลัง "ฉีดวัคซีน" "100 ล้านโดส"
นพ.ธงชัย เน้นย้ำด้วยว่า ขอให้หน่วยบริการที่กระจายชุดตรวจในแต่ละพื้นที่ จัดทำแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนว่าถ้าผลตรวจเป็นบวกแล้วต้องทำอย่างไร ติดต่อที่ไหน โดยประชาชนต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องรวดเร็วและไม่มีการปฏิเสธไม่ว่าจะตรวจด้วย ATK จากโครงการนี้หรือไปซื้อมาตรวจเองก็ตาม ถ้าอาการไม่หนักก็แนะนำให้ทำ Home Isolation แต่ถ้าจะรับเข้าโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาล ต้องทำ RT-PCR ก่อน และการแจก ATK นั้น เจ้าหน้าที่ควรสอบถามเบื้องต้นก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ขอให้เน้นกลุ่มเสี่ยงที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด คนในครอบครัวในชุมชนมีผู้ป่วย รวมทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในในตลาด โดยหากตรวจครั้งแรกแล้วไม่เจอ ให้แนะนำว่าอย่าเพิ่งวางใจ อีก 4-5 วันให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหรือตรวจทันทีที่มีอาการไม่สบาย
ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดว่าชุดตรวจ ATK จะกระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆได้ในสัปดาห์หน้าและเริ่มลงทะเบียนรับชุดตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป ซึ่งในจำนวนชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด จะกระจายในเบื้องต้น 96% แบ่งเป็น กทม. 2.5 ล้านชุด เขตสุขภาพที่ 1-12 อีกประมาณ 5 ล้านชุด หน่วยบริการในสังกัดกรมอนามัยอีก 4 แสนชุด ส่วนชุดตรวจที่เหลือจะเป็นส่วนที่สำรองไว้
ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดจะกระจายชุดตรวจ ATK ไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมี อสม. และจิตอาสา กระจายชุดตรวจให้กลุ่มเสี่ยงที่บ้าน ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังขอรับชุดตรวจที่คลินิกชุมชนอบอุ่นและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการในต่างจังหวัด ผ่านการลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตังได้เช่นกัน