ข่าว

อย่าแชร์ ข่าวปลอม ว่อนเน็ต "ใบป่าช้าเหงา" รักษาโควิด-19

อย่าแชร์ ข่าวปลอม ว่อนเน็ต "ใบป่าช้าเหงา" รักษาโควิด-19

11 ก.ย. 2564

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยข่าวปลอม คลิปแชร์ว่อนโซเซียล ทาน "ใบป่าช้าเหงา" ผสมน้ำผึ้ง ช่วยรักษาโควิด-19 ชี้ แพทย์พื้นบ้านภาคเหนือใช้เข้าตำรับยารักษาโรคเรื้อรัง แต่ยังไม่พบงานวิจัยรับรองรักษาโควิด-19

11 ก.ย. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่ามีการ ตรวจพบ ข่าวปลอม คือ คลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รับประทาน ใบป่าช้าเหงา ผสมน้ำผึ้ง ช่วยรักษาโควิด-19 ได้

ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ 

 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ 

 

จากคลิปวิดีโอที่กล่าวว่ารับประทานใบป่าช้าเหงาผสมน้ำผึ้ง สามารถช่วยรักษาคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้นั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใด ๆ ที่พบว่าใบป่าช้าเหงา หรือใบหนานเฉาเหว่ย ช่วยรักษาโควิด-19 และห้ามผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาด้วยวิธีการนี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ประกอบกับโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยต้องอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้สมุนไพรโดยข่าวลือที่เชื่อต่อกันมา โดยขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

 

ข่าวปลอม ใบป้าช้าเหงา

 

 

ซึ่งใบป่าช้าเหงา หรือ ใบหนานเฉาเหว่ย เป็นสมุนไพรที่มีรสขมเย็น จัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกับพญายอ ฟ้าทะลายโจร ช่วยลดการอักเสบ อาการปวด จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าใบป่าช้าเหงา มีการใช้ในการแพทย์พื้นบ้านทั่วไปทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกา จีน และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้รักษาโรคได้หลากหลาย การแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ ใช้เข้าตำรับยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคขาง โรคสาน (โรคที่มีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย) และใช้แก้พิษ

 

ใบป่าช้าเหงา หรือ ใบหนานเฉาเหว่ย

 

เชื่อกันว่าเป็นสมุนไพรที่ทำให้คนเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังลดลง จนเป็นที่มาของชื่อ “ป่าช้าเหงา” หรือในภาษาเหนือเรียก “ป่าเฮ่วหมอง” ซึ่งการรับประทานที่หมอพื้นบ้านแนะนำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงคือ ใบสด (ขนาดใหญ่) ให้กินวันละ 1 ใบ กินบ้างหยุดบ้าง เช่น วันเว้นวัน หรือ 2-3 วัน/ครั้ง ติดต่อไม่เกิน 1 เดือน

 

มีการศึกษาด้านเภสัชเวทของหนานเฉาเหว่ย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อสนับสนุนประโยชน์ทางยา ได้แก่ ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ในการถ่ายพยาธิ ฤทธิ์ต้านมะเร็งและความเป็นพิษต่อเซลล์ ฤทธิ์ต้านการเจริญพันธุ์ ฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของลิ่มเลือด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ฤทธิ์ในการป้องกันตับ และฤทธิ์ต้านเบาหวาน 

 

บทสรุปของเรื่องนี้คือ  ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใด ๆ ที่พบว่าใบป่าช้าเหงา หรือใบหนานเฉาเหว่ย ช่วยรักษาโควิด-19