"ตรีนุช" ส่อชะลอหลักสูตรฐานสมรรถนะ แจงไม่อยากเพิ่มภาระให้ครู
"ตรีนุช" แจงหลักการนำร่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นโรงเรียนเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ แต่อาจจะชะลอออกไปก่อน ไม่อยากไปเพิ่มภาระให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู
คืบหน้าเรื่องการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในสถานศึกษาในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณเดือนกันยายน 2564 ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” แนวคิดสวยหรู ดูดี ของเล่นใหม่ศธ.
- ชมรมครูสังกัดกรุงเทพฯ วอนศธ.ทบทวนใช้ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ”
- ครูไม่ทน ส่งสัญญาถึง ตรีนุช ขาดการมีส่วนร่วม "หลักสูตรฐานสมรรถนะ"
ตามแผนปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติและที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโรคติดต่อโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง
ในกลุ่มสถานศึกษาที่ต้องนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูลนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ชี้แจงว่า ในเบื้องต้นทราบว่าการดำเนินการนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม แต่ตนจะหารือกับคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ฐานสมรรถนะ) อีกครั้งว่า เมื่อมีเสียงคัดค้านถึงความพร้อม เราควรจะเลื่อนการนำร่องใช้หลักสูตรนี้ไปก่อนหรือไม่
นางสาวตรีนุช แจกแจงอีกว่า เพราะโดยหลักการที่ตนเคยมอบไว้ก็คือ โรงเรียนที่จะเข้าร่วมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจะต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ เนื่องจากทราบดีว่าในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ ตนก็ไม่อยากไปเพิ่มภาระให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครู
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า มีโรงเรียนที่สมัครใจจะเข้าร่วมนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะจำนวนกี่โรงเรียน แต่เท่าที่ทราบตั้งแต่ช่วงต้นก่อนหน้านี้มีกว่า 100 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
"แต่ทั้งนี้ ดิฉันได้เน้นย้ำตลอดว่า การนำร่องทดลองใช้หลักสูตรจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ และห้ามไปบังคับโรงเรียนเด็ดขาด เพราะเข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งดิฉันไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับครู”นางสาวตรีนุช กล่าวในที่สุด