เหตุ "จี้ชิงทอง" นักการศึกษา แนะการศึกษาเอาไม่อยู่ ต้องแก้ค่านิยมประเทศ
สังคมไทยน่าเป็นห่วง มองกันที่เปลือกนอก "นักการศึกษา" แนะผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีมากกว่าคำสอน เมื่อการศึกษาวัดได้เพียงความรู้ไม่ได้วัดที่ความดีงาม ทางออกต้องแก้ค่านิยมประเทศ เมื่อทำผิด-ทุจริต ต้องลาออก
จากกรณีนักเรียนชั้นม.6 "จี้ชิงทอง" อ้างปมแม่โทรถามหาเงินประกันชีวิตพ่อที่ตาย มีความกดดันเกิดความเครียดจึงก่อเหตุจี้ชิงทองหวังนำมาขายโอนเงินเข้าบัญชีส่งคืนแม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเรียน ม.6 โรงเรียนชื่อดัง คิดสั้นควงมีดบุกเดี่ยว "จี้ชิงทอง"
- ตำรวจส่งนักเรียนสาว17 "จี้ชิงทอง" กักตัวสถานพินิจนครปฐม
- ศาลให้ประกัน "ม.6 ชิงทอง" หลัง ผอ.ควักเงิน 1.5 หมื่นยื่นประกัน
- ซินแสเข่ง ผ่าดวง "ผู้กำกับโจ้" ชีวิตพลิกผันชะตากรรมลงโทษ
- "อาจารย์แพทย์นักวิจัย" ม.มหิดล คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี2564
แม่นักเรียนผู้ก่อเหตุ "จี้ชิงทอง" ป่วยโรคโควิด-19 ตกงานกลับบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ด นักเรียนคนดังกล่าวหวังรวยทางลัด แต่ภัยออนไลน์ทำให้ถูกหลอก สูญเงิน 50,000 บาท
จากเหตุการณ์นักเรียนชั้นม.6 "จี้ชิงทอง" นั้น ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และรักษาการคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ นักวิชาการด้านการศึกษาให้มุมมองและทางออกกับ “คมชัดลึกออนไลน์” เอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กขาดความรัก ความอบอุ่น ไร้ที่พึ่ง
"เมื่อนักเรียนชั้นม.6 มีความกดดัน มีความเครียดและไร้ทางออกของปัญหา ก็เลือกใช้ทางลัดจี้ชิงทอง ที่คิดว่าจะได้เงินมาง่ายๆ จากการเสพสื่อหรือดูภาพยนตร์ เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ"นักการศึกษา ระบุ
“การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว การศึกษาในโรงเรียน การปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในทุกระดับ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าบริบทสังคมไทย ที่ให้ความสำคัญกับคนมีเงิน หรือที่เรียกไฮโซ อย่างเคส ผู้กำกับโจ้ หากความจริงไม่ปรากฏสังคมก็ยังยกย่องเขามากกว่าคุณค่าความดี หรือความเป็นคน เช่นเดียวกันในระบบการศึกษาไทยก็วัดผลจากการสอบความรู้ ไม่ได้วัดที่ความดีงาม”ผศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ
สังคมไทยน่าเป็นห่วง เพราะเรามองกันที่เปลือกนอก ไม่รู้ความดีงาม คุณธรรมจริยธรรมอยู่ตรงไหน เลยเกิดปัญหาการจี้ชิงทองรายวัน เพราะมีความเชื่อว่าการจี้ชิงทองเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และง่ายที่สุด ในการได้เงินมา เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับค่านิยมยกย่องนิยมคนมีเงิน เป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้องจึงเกิดปัญหา
"ทางออกของปัญหาต้องแก้ทั้งระบบสังคมไทย เราควรให้ความสำคัญกับการทุจริตคอรัปชันว่าเป็นเรื่องเลวร้าย ไทยต้องเอาจริงในเรื่องนี้ เพียงเรื่องเดียวก็แก้ปัญหาประเทศได้แล้ว "นักการศึกษา ระบุ
เมื่อมองมาที่การศึกษา ต้องพัฒนาคนทั้ง 3 ด้าน คือความรู้ ทักษะ คุณธรรมจริยธรรม แต่ระบบการศึกษาไทย สามารถวัดเพียงความรู้อย่างเดียว เพราะมันง่ายและทำได้สะดวก การวัดผลจากคุณธรรม จริยธรรม จึงไม่มี
อย่าลืมว่าการศึกษายุคปัจจุบันความรู้ไม่สำคัญว่าต้องได้จากครูหรือในห้องสมุดอีกต่อไป เมื่อความรู้มีอยู่ทุกที่ อยากรู้ก็เปิดกูเกิ้ล แต่คุณธรรมจริยธรรมต้องปลูกฝังเริ่มจากครอบครัว จากสถานศึกษา จากสังคม และจากการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องของประเทศ
ยกตัวอย่างค่านิยมของประเทศญี่ปุ่น ปลูกฝังความซื่อสัตย์ ความรักชาติ ขณะที่เกาหลี ปลูกฝังความละอายต่อการทุจริต มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เมื่อทำผิดพลาดก็ขอโทษ หรือลาออกจากตำแหน่ง
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ แนะทางออกค่านิยมไทยเพี้ยนว่า ค่านิยมของประเทศไทยไม่มีแบบประเทศญี่ปุ่น หรือเกาหลี ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย เมื่อทำผิดหรือทุจริตต้องลาออก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องทำให้เด็กนักเรียน นักศึกษาดู อย่าดีแต่พูด เพราะการกระทำของผู้ใหญ่ สำคัญยิ่งกว่าคำสอน
“ผมยกตัวอย่าง หรือแบบอย่างของผู้ใหญ่ หรือผู้นำที่ดี เมื่อครั้งป๋าเปรม เป็นประธานเปิดงานที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เมื่อมีนักศึกษาม.รามคำแหง เข้าไปชกป๋าเปรม ทุกคนในงานตะลึงกันไปหมด แต่สำหรับ รศ.สุขุม นวลสกุล ในฐานะอธิการบดีม.รามคำแหง ในขณะนั้นได้แสดงสปริตรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี นี่คือแบบอย่างที่ผู้ใหญ่ควรทำให้เด็กและเยาวชนได้เห็น” รศ.ดร.รัฐกรณ์ ฝากสังคมไทยช่วยกันคิด