"นักวิจัย" ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ถึงฉีดวัคซีนโควิดได้
ผลการทดสอบทางคลินิกในต่างประเทศไม่พบข้อสงสัย แต่พบว่าเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ฉีดผู้ใหญ่ มีการกระตุ้นภูมิที่ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ "นักวิจัย" ม.มหิดล หนุนฉีดวัคซีนหยุดระบาดโควิด-19 ในเด็ก
วิกฤติโควิด-19 จากจุดเริ่มต้นที่เป็นโรคติดเชื้อซึ่งผู้คนยังไม่รู้จัก จนเมื่อมีการแพร่ระบาดสู่วงกว้างทั่วโลก จึงได้มีการศึกษาวิจัยคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เริ่มต้นทดลองฉีดในผู้ใหญ่ ก่อนขยายขอบเขตฉีดในเด็กวัย 12 ปีขึ้นไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไม่บังคับ “บอร์ด กพฐ.” เคาะเปิดภาคเรียน 1 พฤศจิกายน สลับมาเรียน วันละ 5-6 คน
- เปิดเทอมแน่“ตรีนุช” นำผู้บริหารศธ.-สธ. แถลงพร้อมเปิดภาคเรียนเทอม2
- “เยียวยา2000” พบรร.เอกชน กว่าร้อยละ 94 โอนเงินถึงมือผู้ปกครองแล้ว
- รับเปิดเรียนภาคเรียนที่2 “ศธ.” ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียน-นศ. ตุลาคมนี้
- “ตรีนุช” ลุ้นเปิดเรียนเต็มรูป เร่งฉีดวัคซีนให้ครูครบทุกคน
ในอนาคตจะสามารถฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ครอบคลุมได้ในทุกวัยหรือไม่นั้น คงต้องฝากความหวังไว้กับนักวิจัยซึ่งจะเป็นหนทางรอดของมวลมนุษยชาติต่อไป
ด้วยความหวังของผู้คนในยุค New Normal ที่จะอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 เพื่อการเริ่มต้นชีวิตวิถีปกติใหม่ จำเป็นต้องรู้เท่าทันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยที่ผ่านมา วิกฤติโรคโควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลก ที่เป็นทิศทางการวิจัยของทุกประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยที่มีเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN)
ประกอบด้วย 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นคณะทำงานหลักในกลุ่มวิจัยคลัสเตอร์สุขภาพ (Health Cluster) ที่ผ่านมานักวิจัยในเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) ได้มีการทำงานวิจัยในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ โรคโควิด-19 ทั้งในแง่ของการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลงไปจนถึงระดับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Science)ส่วนของการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ในเด็ก
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานกลุ่มวิจัยคลัสเตอร์สุขภาพ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) มองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด-19 คือ วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดในขณะนี้
วัคซีนทุกตัวที่เรานำมาใช้ผ่านการวิจัยและทดสอบความปลอดภัยมาแล้วทั่วโลก ซึ่งการที่ได้เริ่มต้นทดสอบในผู้ใหญ่ก่อนเนื่องจากเป็นมาตรฐานทางจริยธรรม เมื่อผ่านการทดสอบและเห็นแล้วว่าได้ผลดี จึงเริ่มมาทดสอบในเด็ก โดยในระยะแรกได้เริ่มฉีดให้กับเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปก่อนจะฉีดให้เด็กที่มีอายุต่ำลงมาต่อไป เมื่อได้ผลการวิจัยเป็นที่ยอมรับ
ศ.นพ.มานพ ไขข้อข้องใจถึงผลกระทบในระยะยาวของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่หลายคนเป็นห่วงว่า เมื่อพิจารณาถึงบริบทของการพัฒนาวัคซีนโดยทั่วไปแล้ว หากจะเกิดผลข้างเคียงใดๆ มักจะเกิดขึ้นภายใน 1 - 2 เดือนแรกเท่านั้น
ซึ่งในส่วนของผลกระทบในระยะยาวของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 คงต้องรอดูผลต่อไป เนื่องจากโรคโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นแพร่ระบาดได้เพียงประมาณหนึ่งปีเศษเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่เกินกว่า 2 ปี
ในแง่ของประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคโควิด-19 ในเด็ก ศ.นพ.มานพ อธิบายว่าจากการทดสอบทางคลินิกในต่างประเทศไม่พบข้อสงสัยใดๆ โดยพบว่าเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนตัวเดียวกับที่ใช้ฉีดผู้ใหญ่มีการกระตุ้นภูมิที่ดีกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ
ปัจจุบันรอเพียงดูผลการศึกษาทางคลินิกจากการทดสอบฉีดวัคซีนในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีว่าได้ผลดีหรือไม่ จึงจะสามารถนำมาใช้เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่ครอบคลุมในทุกช่วงวัยได้ต่อไป
“การเข้าถึงวัคซีน ขึ้นอยู่กับ ปริมาณวัคซีน เนื่องจากสามารถใช้วัคซีนชนิดเดียวกันได้ ในอนาคตจึงควรมีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้สามารถจัดหาวัคซีนที่มีปริมาณเพียงพอต่อประชากรในทุกกลุ่มต่อไป
และเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แทนที่จะตั้งเป้ากำจัด โควิด-19 ต่อจากนี้ควรหันมาเปลี่ยนมุมมองกันเสียใหม่ว่า จะอยู่กับโควิด-19 อย่างไรได้อย่างปกติ และปลอดภัย" ศ.นพ.มานพ ฝากทิ้งท้าย