UNESCOเตรียมประกาศ"ดอยเชียงดาว"เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่
"UNESCO" (ยูเนสโก) เตรียมประกาศให้พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็น1ใน22แห่ง ที่ได้รับการประกาศเป็น"พื้นที่สงวนชีวมณฑล"แห่งใหม่ ประจำปี 2564
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย "กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช" เผยแพร่ผลการประชุมจากยูเนสโก ว่าในวันที่ 15 กันยายน2564 นี้ จะมีการรับรอง"พื้นที่สงวนชีวมณฑล" แห่งใหม่ประจำปี 2564 จำนวน 22 แห่งจากทั่วโลกโดยประเทศไทย มีพื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในรายชื่อ
สาระสำคัญที่ทำให้ดอยเชียงดาวได้รับการคัดเลือกคือ เป็นความต้องการยกระดับความสำคัญของพื้นที่ สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ที่เชื่อมโยงกับสังคมพืชในเทือกเขาหิมาลัย ทางตอนใต้ของจีน ภูมิประเทศเขาหินปูน ภูมิปัญญาเหมืองฝาย ซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลเรื่องระบบนิเวศ และการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มาเป็นเวลากว่า 40 ปี
พื้นที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 536,931 ไร่ เป็นภูเขาหินปูน และเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับสาม ของประเทศไทยเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองอีกหลายชนิด และเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมชนเผ่าเช่น ไทยใหญ่,ม้ง,มูเซอ,ลีซอ,ปกากะญอและวัฒนธรรมล้านนา
การที่ดอยเชียงดาวถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น หลายด้าน เช่น การถ่ายทอดความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม การส่งเสริมการเป็นมืออาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางการตลาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชน เพราะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ระบบนิเวศ การท่องเที่ยว สินค้า บริการ ที่จะเกิดขึ้นจะต้องอยูภายใต้ การรักษาธรรมชาติ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "อุทยานฯ" สั่งปิด "หมู่เกาะพีพี" 14 วัน หลังยอด โควิด-19 ขึ้น
- อัปเดต เปิด-ปิด อุทยานแห่งชาติ-วนอุทยาน ที่ไหนเปิดได้ปกติ ที่ไหนปิด เช็กเลย
- โควิด" คลี่คลาย เชิญเที่ยว "น้ำตก" อุทยานฯเอราวัณ เปิดบริการ 10 ก.ย.นี้
- เที่ยวผ่อนคลาย "โควิด-19" อัปเดต อุทยานแห่งชาติ - วนอุทยาน รวม 81 แห่ง เปิดปกติ
- อุทยานแห่งชาติบิ๊กเบนด์ อุทยานที่ภูเขาบรรจบมาพบกับทะเลทราย
ส่วนการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ว่าด้วยเรื่องการประสานงานระหว่างชาติ โครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่13-17กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย
ดอยเชียงดาวจะกลายเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ลำดับที่5 ของประเทศไทย ซึ่งในวันที่ 16 กันยายนนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีการแถลงข่าวอีกครั้ง
ข้อมูลเพิ่มเติม พื้นที่สงวนชีวมณฑล อีก 4 แห่งของประเทศไทย
พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519
พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520
พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520
พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Sub-alpine) คือ สังคมพืชที่ไม่มีไม้ยืนต้น นอกจากพืชล้มลุก เป็นสังคมพืชที่พบน้อยมากในเมืองไทย พบได้เฉพาะบนความสูงเกิน 2,000 เมตร ทางภาคเหนือเท่านั้น เช่นที่ ดอยหลวงเชียงดาว คือมีดอกไม้ขึ้นอยู่ตามเชิงผาและซอกหิน พรรณไม้บางชนิดขึ้นอยู่ได้เป็นกลุ่ม ๆ มีทั้งพืชล้มลุกและไม้พุ่มขนาดเล็ก
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
https://www.facebook.com/prhotnews02
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
http://news.dnp.go.th/news/6719?fbclid=IwAR2LdWAIiKoTTA7a2hLLXCvuXIjF7GMHvmAAelEQ8aL39AS_04d90Ewmc1k
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช
https://www.facebook.com/956078261099817/posts/1910061045701529/