"กรมการแพทย์" ย้ำ "ตากุ้งยิง" ไม่ใช่โรคติดต่อ หายเองได้
"รองอธิบดีกรมการแพทย์" ย้ำ "ตากุ้งยิง" ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถหายเองได้ ไม่ก่อให้เกิดโณค แต่บางรายอาการอาจรุนแรง ควรพบแพทย์
วันนี้ 14 ก.ย. 64 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตากุ้งยิง เป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่เกิดบริเวณเปลือกตา ซึ่งจะสังเกตได้จากการที่มีตุ่มแดงนูนขึ้นที่เปลือกตา มักจะมีอาการปวด ร่วมด้วย ตากุ้งยิง ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้บนผิวหนังของคนปกติ อยู่แล้ว ในภาวะปกติ เชื้อนี้จะไม่ได้ก่อให้เกิดโรคอะไร แต่ถ้าหากเชื้อนี้เข้าไปสู่ภายใต้ผิวหนัง จะทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของ ตุ่ม ฝี หนอง ตากุ้งยิง
โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.External hordeolum เกิดการอักเสบของต่อมไขมันที่ผิวหนัง หรือรากขน เป็นตุ่มหนองที่บริเวณเปลือกตาด้านนอกซึ่งเป็นตุ่มหนอง แดง และเจ็บ
2.Internal hordeolum เกิดการอักเสบของต่อมไขมันที่แถบเปลือกตาเป็นตุ่มหนองที่บริเวณเปลือกตาด้านใน ซึ่งเป็นตุ่มนูนแดง และเจ็บ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สถานเสาวภา "สภากาชาดไทย" แจ้งวันรับบริการวัคซีนซิโนฟาร์ม แก่ผู้ที่จองทัน
- "จองซิโนฟาร์ม" สถานเสาวภา ล่าสุดระบบกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว
- คลัสเตอร์ใหม่พุ่ง "กระบี่" ล็อกดาวน์ อีกรอบ เช็กรายละเอียดข้อบังคับล่าสุด
- ผล "ATK" เป็นบวก รักษาฟรี รพ.กรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ย้ำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
- เตือนหน้าฝน "โรคชิคุนกุนยา" โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ระบาด เช็กอาการ - วิธีรักษา
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเสริมว่า ในส่วนของอาการของตากุ้งยิง เมื่อเกิดอาการตากุ้งยิง เริ่มแรกจะมีอาการเจ็บ ๆ คัน ๆ บริเวณเปลือกตา ต่อมาจะเริ่มบวมแดง และจะเริ่มรู้สึกปวดบริเวณเปลือกตา หากกดลงไปบริเวณก้อนจะรู้สึกเจ็บ จะเริ่มเห็นเป็นหัวฝีหรือหัวหนองภายใน 4 - 5 วัน หลังจากนั้นหนองจะแตก และยุบไป ในกรณีที่หนองออกไม่หมด จะเกิดเป็นก้อนแข็งเป็นไตที่เปลือกตา ซึ่งจะค้างอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานานและอาจจะกลับมาอักเสบขึ้นอีกได้เป็นครั้งคราว แต่หากมีอาการปวดมาก และแนวโน้มอาการ ไม่ดีขึ้น มีอาการบวมแดงเป็นบริเวณกว้าง มีอาการตาพร่า หรือ มองเห็นไม่ชัด ควรพบแพทย์ และในกรณีดังกล่าวเหล่านี้ แพทย์อาจจะให้ยาปฏิชีวนะ หรือใช้เข็มเจาะตุ่มฝี เพื่อระบายหนองออก
แพทย์หญิงอรวีณัฏฐ์ นิมิตรวงศ์สกุล จักษุแพทย์ กล่าวเพิ่มว่า ตากุ้งยิง เป็นการอักเสบของต่อมไขมันที่เปลือกตา ซึ่งมักจะเกิดในคนที่ขยี้ตาบ่อย ๆ พบเจอฝุ่นละอองสกปรกเข้าตามาก ๆ และมาขยี้หรือจับตา เหมือนเด็กๆที่ชอบจับแก้มแล้วสิวขึ้น ซึ่งสามารถเป็นแล้วเป็นอีกได้ หากไม่ระวังและรักษาความสะอาดของมือก่อนที่จะมาสัมผัสตา คนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ที่คันตาบ่อย ๆ หรือนอนดึก อดนอน ระคายเคืองตา ขยี้ตาก็ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้บ่อย เวลาเป็นก็สามารถเป็นได้ทั้งเปลือกตาเลย คือบน ล่าง ซ้าย ขวา อาจเป็นได้พร้อมกันได้ การรักษา
เมื่อเริ่มมีอาการจะเริ่มมีการบวมแดง เจ็บๆ เคืองๆ ของเปลือกตา แนะนำให้รีบประคบอุ่นบ่อยๆ อาจจะใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือ เจลร้อน เป็นต้น และห้ามขยี้ตา และใช้ยาหยอดหรือยาฆ่าเชื้อแบบทาน ในบางรายอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยา สามารถหายเองได้ หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี แต่หากไม่รีบประคบและขยี้ตาอีก และปล่อยให้บวมอักเสบจนขึ้นมาเป็นเม็ดแล้ว
โดยมากมักไม่หายต้องมาเจาะเอาหนองออก ถ้าไม่เจาะ บางรายหายได้เองแบบหายสนิท แต่บางรายหายแล้วเป็นไตเป็นเม็ดเหมือนสิวอุดตัน ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะหาย ตากุ้งยิงไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะฉะนั้นการป้องกันไว้ไม่ให้เกิดย่อมดีกว่า คือหลีกเลี่ยงการสัมผัสเปลือกตาด้วยมือที่ไม่สะอาด และไม่ควรขยี้ตา การดูแลรักษาเปลือกตาด้วยการประคบอุ่น เช็ดฟอกเปลือกตา ทุกวันช่วยป้องกันการเป็นตากุ้งยิงได้
ที่มา กรมการแพทย์