ข่าว

หนักใจ "รัฐกรณ์" แนะสพฐ.สำรวจ ครูพร้อม รับมือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือไม่

หนักใจ "รัฐกรณ์" แนะสพฐ.สำรวจ ครูพร้อม รับมือ หลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือไม่

15 ก.ย. 2564

ครูต้องเปลี่ยน "รัฐกรณ์" เห็นใจสพฐ.ต้องทำงานหนัก แนะสำรวจ ครูพร้อม รับมือหลักสูตรฐานสมรรถนะ เร่งสร้างความเข้าใจ นี่คือเทรนโลก แต่ไทยมองเป็นเรื่องใหม่ ทั้งที่มีมานานแล้ว หากทำสำเร็จนักเรียนได้ประโยชน์สูงสุด

จะเดินหน้าไปต่อก็ลำบาก จะถอยหลังก็ไม่ได้ นี่คือสภาพของการจัดการศึกษาตามแบบ “หลักสูตรฐานสมรรถนะ” ในสถานศึกษาสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตามนโยบายของนางสาวตรีนุช  เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)  เมื่อมีทั้งแรงต้าน และหนุนจากครู องค์กรครู และนักวิชาการบางกลุ่ม

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา(มรภ.นครราชสีมา) เปิดเผย “คมชัดลึกออนไลน์” ว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ พูดตรงๆ ว่าปัจจุบันเป็นแนวโน้มการศึกษาทั้งโลก เป็นเทรนของโลกทุกวันนี้ เมื่อความรู้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น แต่เรื่องของความสามารถหรือสมรรถะะเป็นสิ่งที่จำเป็นของโลก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

"เมื่อก่อนยุคใบปริญญา เรียนจบก็ยื่นใบปริญญาสมัครงานได้ แต่ปัจจุบันและอนาคตโลกเปลี่ยนไป ใบปริญญาแทบไม่มีความหมาย เมื่อองค์กร หรือหน่วยงานเวลาจะรับคนเข้าทำงาน  จะรับคนตามคุณสมบัติที่เขาต้องการ วัดจากความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิตที่สำคัญมีสมรรถนะตรงตามกับงานที่เขาต้องการหรือไม่" รศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ

 

 

เช่นหน่วยงานต้องการรับโปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่มีใบปริญญาอย่างเดียว แต่ทำได้ขณะเดียวกันคนไม่มีใบปริญญาแต่มีทักษะทำงานจริงได้ก็รับเข้าทำงาน ไม่ใช่แค่วุฒิปริญญาเท่านั้น"

 

 

สำหรับประเทศไทย หลายอาชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่เห็นเด่นชัดเจน เช่น หลักสูตรคณะแพทย์ศาสตร์ หลักสูตรพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และมีความเสี่ยงต่อชีวิต หากไม่มีความรู้ได้มาตรฐาน มีทักษะลงมือทำ และที่สำคัญสมรรถนะต้องตรงตามหลักสูตร

 

ส่วนหลักสูตรการผลิตครู ตั้งแต่ปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นหลักสูตรครู4ปี  ซึ่งเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว นักศึกษาครูที่เรียนต้องมีความรู้ได้มาตรฐานวิชาชีพครู ต้องผ่านการฝึกทักษะอาชีพครูหรือฝึกสอนในสถานศึกษา ที่สำคัญต้องมีสมรรถนะสามารถสอนผู้เรียนได้จริง

 

ว่ากันว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะที่สพฐ.จะนำมาใช้ เน้นหัวใจสำคัญ 3 เรื่องใหญ่คือ 1.หลักสูตรที่เน้นเนื้อหาเป็นหลัก 2.หลักสูตรที่เน้นมาตรฐานและ 3.หลักสูตรที่เน้นเน้นสมรรถะ

 

 

เมื่อย้อนมองหลักสูตรปี 2551 ที่จะถูกยกเลิกไป ความจริงเป็นหลักสูตรที่ดีมาก มีการเน้นมาตรฐานแต่ละช่วงชั้น แต่ละวิชา มีตัวชี้วัด และมีการวัดเนื้อหาสาระความรู้ของเด็กเยอะไปหมด ตังชี้วัดก็สูงมาก ก็เกิดปัญหาเพราะนำมาใช้ไม่ได้จริง เมื่อเด็กต้องเรียนวิชาการเยอะไปหมด แต่ไม่มีสมรรถะตามที่โลกปัจจุบันต้องการ

 

 

เมื่อมาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะไม่เน้นเนื้อหาความรู้ แต่เน้นทักษะการทำได้  คือผู้เรียนมีทั้งความรู้  ควบคู่มีทักษะ และพฤติกรรมหรือการแสดงออกว่ามีสมรรถนะ

 

 

ปัญหาคือการที่จะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดีมาใช้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการนำไปไปปฏิบัติครูพร้อมแค่ไหน มีความรู้ ความเข้าใจแค่ไหน ในการที่จะไปจัดการเรียนรู้ สพฐ.ต้องเข้าใจก่อนว่ามีครู 600,000 คน  และครูมีหลายรุ่น ช่วงวัยอายุที่แตกต่างกัน 

 

 

"ในอดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการ ประกาศเน้นภาษาอังกฤษเด็กต้องสื่อสารได้ภายใน 2 ปี ซึ่งผมก็แย้งไปว่าทำไม่สำเร็จ เพราะครูแตกต่างกันมาก อีกทั้งครูบางคนอีก  3  เดือนจะเกษียณแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ครูบางคนอายุเป็นเพียงตัวเลขพร้อมปรับเปลี่ยน แบบนี้สพฐ.ก็โชคดีไปอย่าลืมว่าการบังคับให้ครูทุกคนต้องอบรม เคยล้มเหลวมาแล้วรัฐต้องสูญเงินจากคูปองการศึกษา แต่ไม่ได้อะไรกลับมา" รศ.ดร.รัฐกรณ์ ระบุ

 

 

ทางออก สพฐ.ควรสำรวจครูพร้อมหรือไม่  กลุ่มครูที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็ปล่อยไป กลุ่มครูที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็ต้องพัฒนา อายุไม่ใช่ปัจจัย เพราะครูบางคนอายุจะ 60 ปี แล้ว แต่ความคิดความอ่าน วิธีการสอนกลายเป็นคนติดเทรนโลก แต่ครูบางคนอายุ 30 ปี กลายเป็นคนรุ่นเก่าล้าหลังก็มี

 

 

สพฐ.ต้องทำงานหนักสำรวจศักยภาพของครู เมื่อหลักสูตรเปลี่ยน ครูก็ต้องเปลี่ยน สร้างความเข้าใจว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะเมื่อนำมาใช้ได้จริงนักเรียนได้ประโยชน์ ครูต้องปรับวิธีการสอนอย่างไร ชั่วโมงการเรียนของนักเรียนต้องลดลง

 

 

“หัวใจสำคัญของการเรียนหลักสูตรฐานสมรรถนะ  เด็กเรียนวิชาการน้อนลง ไม่ใช่1,000 ชั่วโมงต่อภาคเรียน  เด็กมีเวลากิน เล่น เต้น วาดกับเพื่อนๆ มีเวลาอยู่กับครอบครัว ที่สำคัญวิชาความรู้ที่เด็กเรียนมาเชื่อมโยงกับทุกวิชา หรือบูรณาการ และต้องนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นี่คือความยากของสพฐ.และของครูว่าทำได้หรือไม่  เพราะนี่คือเทรนการศึกษาโลก แต่การศึกษาไทยมองเป็นเรื่องใหม่” รศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าว