บัณฑิต จบ ป.ตรี "14,510 อัตรา" ได้เฮ "รัฐบาล" เตรียมพิจารณาต่ออายุโครงการ
เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาต่ออายุโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ เพื่อรักษาการจ้างงานผู้ที่จบปริญญาตรี 14,510 อัตรา ครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ หวังบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19
วันนี้ (15 ก.ย.64) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้ผลักดันหลายโครงการที่เป็นการจ้างงานเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบยังมีรายได้ ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการจ้างงานเพื่อจัดเก็บข้อมูลและบันทึกข้อมูลในระดับตำบลในทุกมิติ ทั้ง 12 ด้าน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลและสร้างแพลตฟอร์มให้หลายภาคส่วนสามารถเข้ามาดูข้อมูลแต่ละพื้นที่ เช่น แต่ละตำบลมีพืชเศรษฐกิจอะไรบ้าง มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจยังไงบ้าง ซึ่งมีการประมวลผลทุกเดือน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวได้ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่หางานทำได้ยากในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด รวมถึงได้ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนผ่านมาตรการการจ้างงาน ผู้ร่วมโครงการเกิดสร้างทักษะ ประสบการณ์การทำงาน ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิต กระทรวงมหาดไทยจึงได้พิจารณาต่อโครงการฯ จากที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 นี้ ออกไปอีก เพื่อให้ประชาชนยังมีงานทำ และสานต่อการจัดทำฐานข้อมูลระดับตำบลให้เสร็จสมบูรณ์ เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ลูกจ้าง TST "วอนเห็นใจ" ต่อสัญญาโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ
- "เลขาฯสภาพัฒน์" ยอมรับยังไม่เห็นหนังสือต่อสัญญาโครงการ Tambon Smart Team
- "สปสช." เปิดยอดเยียวยาคน "แพ้วัคซีนโควิด" แล้ว กว่า 157 ล้านบาท
- "ลูกจ้าง" ติดโควิด "ประกันสังคม" จ่ายชดเชยรายได้ให้ เช็คสิทธิ์ที่นี่
- เช็ควันโอนเงิน "ประกันสังคม" ม.33 ม.39 ม.40 สรุปล่าสุดที่นี่ รอรับได้เลย
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 – 30 ก.ย. 2564 โดยได้จ้างงานประชาชนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า จำนวน 7,255 ตำบล ตำบลละ 2 อัตรา รวม 14,510 อัตรา (ครอบคลุม 878 อำเภอ ในพื้นที่ 76 จังหวัด) อัตราจ้างเหมา 15,000 บาทต่อเดือน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น กระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องการต่ออายุโครงการไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยสภาพัฒน์อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป