ข่าว

"ม.วลัยลักษณ์" เจ้าภาพถก 8 ชาติ เตรียมพร้อม ความมั่นคงอาหาร

"ม.วลัยลักษณ์" เจ้าภาพถก 8 ชาติ เตรียมพร้อม ความมั่นคงอาหาร

16 ก.ย. 2564

ฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน "ม.วลัยลักษณ์" ร่วมมือ ศูนย์ซิมิโอ ยูเนสโก อบรมนานาชาติออนไลน์ ถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ด้านการเกษตรอัจฉริยะของไทย หวังเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงอาหารในอนาคต

อาหารปัจจัยหลักในการดำรงชีพ แต่โลกของอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่อาหารจะไม่เพียงพอกับความต้องการของพลเมืองโลกเฉียดหมื่นล้านคน  ล่าสุดมีความพยายามระดับนานาชาติเพื่อเตรียมความพร้อมความมั่นคงอาหาร

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

รศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

 

 

และมหาวิทยาลัยลัยลักษณ์ โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ จัดโครงการฝึกอบรมนานาชาติ เรื่อง เกษตรกรรมแบบอัจฉริยะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : การฝึกปฏิบัติการจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะ (Climate Smart Agriculture: Smart Farming Practices Online Workshop) ระหว่างวันที่ 6-24 กันยายน 2564

โดยมีผู้สนใจ 70 คน จาก 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย เข้าร่วมอบรมผ่านระบบออนไลน์

 

 

โดยใช้สถานที่ในการถ่ายทอดสดการอบรม จากม.วลัยลักษณ์ และสวนส้มโอทับทิมสยาม จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

\"ม.วลัยลักษณ์\" เจ้าภาพถก 8 ชาติ เตรียมพร้อม ความมั่นคงอาหาร

 

 

รศ.ดร.กฤษณะเดช กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการถ่ายทอดประสบการณ์องค์ความรู้ด้านการเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม ตอบสนองต่อความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างความร่วมมือในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร ช่วยส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ

“และเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงอาหาร ที่สำคัญยังสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง ของ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติ ข้อที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงด้านอาหาร

 

 

และปรับปรุงโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน และข้อที่ 17 เสริมสร้างวิธีการดำเนินการและฟื้นฟูความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย” รศ.ดร.กฤษณะเดช กล่าว

 

 

สำหรับกิจกรรมในการอบรมมีการเวิร์กช็อปในหัวข้อต่างๆ อาทิ การใช้นวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้เทคโนโลยีช่วยจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม การใช้การพยากรณ์อากาศในการเพาะปลูก เรียนรู้ผลกระทบจากสภาพอากาศ การใช้เทคโนโลยีช่วยในการพยากรณ์อากาศและระบบเตือนภัย การลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศแปรปรวน การใช้เทคโนโลยีเซนเซอร์ and IoT (Internet of Things) ฯลฯ

 

 

รศ.ดร.กฤษณะเดช กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตพืชผลทางการเกษตร ดังนั้นการทำการเกษตรอัจฉริยะจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการทำการเกษตรในศตวรรษที่ 21 หากเกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ มีเทคนิคในการตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง จะช่วยลดต้นทุนและสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิต สร้างมาตรฐานการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

\"ม.วลัยลักษณ์\" เจ้าภาพถก 8 ชาติ เตรียมพร้อม ความมั่นคงอาหาร

 

“ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ ม.วลัยลักษณ์  มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ในการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ สถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ สถานีวัดดินที่มีเซนเซอร์วัดความชื้นในดิน เซนเซอร์วัดอุณหภูมิดินและค่าความชื้นที่ผิวใบ เซนเซอร์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ กล้องบันทึกภาพสิ่งแวดล้อม IoT เทคโนโลยีในการเกษตร 

 

 

เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลสภาพอากาศและดินที่ใช้สำหรับการทำเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้คาดว่าผู้เข้าอบรมจะนำความรู้ที่ได้รับ ไปต่อยอดการทำเกษตรสมัยใหม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและพัฒนาระบบเกษตรในประเทศของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”รศ. ดร.กฤษณะเดช กล่าว