เปิด "ร่าง พ.ร.บ. อุ้มหาย" หลังสภารับหลักการเสียงท่วมท้น
สภาฯมติ 368 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย- เปิด "ร่าง พ.ร.บ. อุ้มหาย"จนท.รัฐ ผู้สมรู้ร่วมคิดเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายการทรมาน จับ ขัง ลักพา บังคับให้บุคคลสูญหาย และกระทำโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ มีความผิด โทษหนัก
วันที่ 16 ก.ย.-ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายหรือ "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย" จำนวน 4 ฉบับโดยผลลงมติเห็นด้วย368 เสียงไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 ซึ่งมีหลักการคล้ายกันทั้ง 4 ฉบับ
จากนั้นมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. จำนวน 25 คน พร้อมกำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน และจะใช้ร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณาในวาระ 2 ต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ"ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย" ทั้ง 4 ฉบับ มีสาระสำคัญใกล้เคียงกัน
โดยสรุปดังนี้ มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้สมรู้ร่วมคิดไปเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายการทรมาน จับ ขัง ลักพา หรือกระทำประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย บังคับให้บุคคลสูญหาย และกระทำโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สามมีความผิด
มีการกำหนด บทลงโทษ ทางอาญาของผู้ที่กระทำผิด โดยจะเพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต หรือผู้ถูกกระทำเป็นเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการทางจิตใจ หรือผู้ดูแลตัวเองไม่ได้
-กำหนดบทลงโทษของ ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ต้องรับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง หากไม่สอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้ทำผิดกฎหมาย
-กำหนด อายุความ ของคดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ไว้ ตั้งแต่ 50 ปีจนถึงไม่มีอายุความ โดยแตกต่างกันไปแต่ละร่าง
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
"ร่าง พ.ร.บ. อุ้มหาย" ถูกบรรจุในวาระการประชุมสภามาแล้วหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มักมีเหตุให้ไม่ได้เข้าสู่การประชุม
จนกระทั่งเกิดกรณีตำรวจ สภ. เมืองนครสวรรค์ ทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา และเกิดคดี "ผู้กำกับโจ้" กับพวกซึ่งเป็นตำรวจ ทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยการเอาถุงดำคลุมศีรษะจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เสนอร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งร่างโดยกระทรวงยุติธรรมและผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. ให้สภาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน