ข่าว

เร่งฉีดครูที่เหลือ 30% "เลขาธิการ กพฐ." กำชับผอ.รร.ติดตาม

เร่งฉีดครูที่เหลือ 30% "เลขาธิการ กพฐ." กำชับผอ.รร.ติดตาม

17 ก.ย. 2564

"เลขาธิการ กพฐ." กำชับศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขตพื้นที่ฯ และผอ.รร. เร่งติดตามให้ครูได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน จากที่ยังไม่ได้ฉีดอยู่ร้อยละ30

เพื่อรับเปิดเทอมเต็มรูปแบบ วันที่ 1   พฤศจิกายน  และ วันที่ 15  พฤศจิกายน นี้ เปิดเรียน 100% ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการเร่ง(ศธ.)เตรียมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เดินหน้าให้ครูได้รับฉีดวัคซีนครบ 100%

 

 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ขณะนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา จึงให้เด็กและครูมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนก่อนเป็นลำดับแรก

 

 

"ในส่วนนี้อยากให้ทุกคนมีความเชื่อและเข้าใจตรงกันว่า เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเราจะมีความปลอดภัยมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด"เลขาธิการกพฐ.กล่าว

ซึ่งครูจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดว่าฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการเป็นอย่างไร หากเราสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้วก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนมากขึ้น

 

 

"สิ่งสำคัญในตอนนี้คือทำอย่างไรให้นักเรียนได้ฉีดวัคซีนมากที่สุด ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น"เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

 

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ผู้ปกครองให้ความยินยอมและสมัครใจที่จะฉีด ซึ่งเราคาดหวังว่าหากนักเรียนรุ่นแรกได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะสามารถเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนได้ และทยอยเปิดต่อไปเรื่อยๆ ตามพื้นที่

 

 

ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อตอบโจทย์ของสังคมที่ต้องการให้เด็กได้เรียนแบบเต็มรูปแบบ หรือเปิดเรียนแบบ On Site โดยเร็ว

สำหรับการฉีดวัคซีนในรอบแรกอาจจะมีผู้ประสงค์ต้องการฉีดเป็นจำนวนหนึ่ง แล้วในระยะต่อไปอาจจะมีผู้สมัครใจเพิ่มมากขึ้นได้ จึงต้องเตรียมแผนสองไว้รองรับเพื่อให้กระบวนการสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดตอน ทำให้โรงเรียนเกิดความปลอดภัย เพราะเมื่อทุกคนได้ฉีดวัคซีน ทุกคนก็จะรู้สึกว่ามีความปลอดภัยร่วมกัน

 

 

ในส่วนนี้หลังจากฉีดแล้วอยากให้ผู้บริหารโรงเรียน หรือ ผอ.รร. และผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อเด็กฉีดแล้วมีอาการข้างเคียงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

 

"เพราะจากผลวิจัยจากต่างประเทศพบว่าในเด็กจำนวน 1 ล้านคน เกิดผลข้างเคียง 60 คน แต่ยังไม่มีเด็กที่อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากวัคซีนไฟเซอร์ จึงอยากให้ทุกคนเกิดความมั่นใจในจุดนี้" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

 

ขณะที่ในส่วนของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงไป ตอนนี้ก็กำลังมีการเตรียมทำการวิจัยในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 12 ปี ดังนั้นคาดว่าในอนาคตเด็กกลุ่มนี้ก็จะได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน

 

 

“เมื่อนักเรียนได้ฉีดวัคซีนแล้ว อยากให้คุณครูที่ยังไม่ได้รับการฉีดอีกประมาณ 30% ได้ไปฉีดวัคซีนกันครบทุกคน ในส่วนนี้ต้องให้ทุกฝ่ายทั้งศึกษาธิการจังหวัด ผอ.เขต และผู้บริหารโรงเรียน ติดตามให้ครูได้ฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน เพราะเมื่อเราได้ฉีดครบทุกคนแล้ว ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูก็จะได้เกิดความปลอดภัยร่วมกัน

 

 

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเปิดเรียนเท่านั้น โรงเรียนใดที่ยังไม่ถึงคิวฉีดวัคซีนแต่สามารถประเมินตนเองผ่านเกณฑ์ โดยไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุญาตให้เปิดเรียนได้ ทางโรงเรียนก็สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว