เบื้องหลัง สภาล่ม ล้มโหวต "ร่างพ.ร.บ.การศึกษา"
ไม่รู้ใคร ปล่อยข่าวประธานรัฐสภาจะไม่โหวต "ร่างพ.ร.บ.การศึกษา" หลังอภิปรายฯ เสร็จสิ้น "ศ.ดร.กนก" เผยทำให้ ส.ส. ส่วนหนึ่งกลับบ้าน ส่วน ส.ว. ทยอยออกไปด้วย ทำให้ประธานฯ "ชวน หลีกภัย" เลือกปิดประชุมสภาฯแทนการลงมติ เชื่อ1 พ.ย. นี้มีโหวตรับร่างวาระที่1
ควันหลงการประชุมรัฐสภา เพื่ออภิปรายร่างพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ เมื่อศุกร์ที่17 กันยายน 2564 เป็นปมร้อนทางการเมือง เมื่อปรากฏว่าสภาล่ม หลังสมาชิกรัฐสภาอภิปรายฯเสร็จสิ้น แต่ไม่มีการโหวตหรือลงประมติ รับร่างพ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. ตามที่คมชัดลึกออนไลน์ได้ นำเสนอไปบางส่วนนั้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หมอชลน่าน โวย "สภาล่ม" โหวตกฎหมายปฏิรูปไม่ได้ ใครต้องรับผิดชอบ
- หมอชลน่าน ชี้ซักฟอกขยายแผล"ทุจริต" เชื่อส่งผล รมต. หลุดตำแหน่งได้
- ใครเสียค่าโง่ “ประวิตร” ปลุกพลังประชารัฐ สู้พรรคทักษิณ
- พี่น้อง 3 ป.ป่วน “ทักษิณ” สบช่อง 2 ใบทวงคืนอำนาจ
- สงครามยังไม่จบ “ป.ประยุทธ์” อย่าเพิ่งนับศพ 2 รมช.
ล่าสุด ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกรัฐสภา ที่เข้าร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาชาติ ที่ห้องประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 เปิดเบื้องหลังการไม่ลงมติหรือไม่มีการโหวตเพื่อรับ ร่างพ.ร.บ.การศึกษา ในวาระที่1 ว่า วันนั้นเป็นวันศุกร์มีการประชุมรัฐสภา และมีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายฯเป็นจำนวนมากถึง 70 คน แต่ละคน มีเวลา 7 นาทีใช้เวลาประมาณอภิปรายฯนานถึง 10 ชั่วโมง
"ตอนนั้นกลุ่มพวกส.ส. เขาอยากกลับพื้นที่่พบชาวบ้าน เพราะต่างเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้"รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ทำไมการเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ไม่ว่ามองจากมิติไหนก็ตาม เพราะรัฐบาลเหลือวาระปีกว่า แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองยุบสภา การเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นแน่ ซึ่งทำให้ ส.ส.เขตไม่มีเวลาหาเสียงมากนัก
“เวลาประมาณ 17.00 น. มีข้อมูลทำนองว่าท่านประธานรัฐสภา ได้มีการหารือกับวิปฝ่ายค้าน และวิปฝ่ายรัฐบาลแล้วว่าในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษา จะไม่มีการลงมติ หรือโหวต
เมื่อมีข่าวออกมาแบบนี้ ทั้งกลุ่ม ส.ส.และกลุ่มส.ว.ก็มีการเช็คข้อมูลกันวุ่นวายไปหมด เมื่อไม่มีการยืนยันจากฝ่ายไหนเลย ส.ส.เขตอยากกลับบ้านกันอยู่แล้ว ก็เดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา ส่วนส.ว. ก็กลับบ้านด้วย
เมื่อทั้งส.ส. และส.ว. ต่างพูดกันว่าไม่มีการโหวตกลับไปดูทีวีหรือฟังวิทยุที่บ้านดีกว่าเพราะไม่ต่างกัน แต่นาทีนั้นไม่มีใครรู้ความจริงคืออะไร” ศ.ดร.กนก ระบุ
ต่อมาเมื่อเวลา 19.00 น. สมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายฯเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาขานชื่อสมาชิกลงมติร่าง พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ. เข้าใจเจตนาว่าต้องการให้รัฐสภาตรวจสอบว่า ช่วงเวลานั้นจะมีสมาชิกรัฐสภาท่านไหนยังอยู่ในห้องประชุมหรือไม่
ศ.ดร.กนก กล่าวอีกว่า แต่ประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ไม่ได้เล่นไปตามเกมของนักการเมือง เมื่อมารับหน้าที่ต่อจากประธานพรเพชร วิชิตชลชัย จึงสั่งปิดการประชุมแบบไม่ลงมติรับร่างพ.ร.บ.การศึกษา
“ผมเข้าใจท่านชวน หลีกภัย ว่าท่านรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสภาอันทรงเกียรติ ให้เป็นที่พึ่งของสังคมไทยได้ อีกทั้งไม่อยากประจานสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ได้ประนีประนอนเสียทุกครั้ง เพราะก่อนการประชุมรัฐสภาก็ย้ำกับสมาชิกให้รับผิดชอบต่อประชาชน ตามที่ได้รับความไว้วางใจเลือกตั้งเข้ามาเป็นส.ส.”
ศ.ดร.กนก กล่าวอีกว่า เมื่อเปิดสภาฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ ร่างพ.ร.บ.การศึกษา จะต้องกลับมาลงมติเห็นชอบในวาระที่1 จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของกรรมาธิการ ต้องไปปรับปรุงแก้ไขตามข้อท้วงติงของสมาชิกรัฐสภา
ซึ่งประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันมากแยกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือเรื่องแรก บทบาทของครูควรให้ความสำคัญ รวมถึงโครงสร้างไม่เห็นด้วยที่อำนาจการศึกษาอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่งานล้นมือประชุมปีละครั้งไม่ทันความเปลี่ยนแปลง และมีการเสนอควรจะกลับมาที่เขตพื้นที่การศึกษา
เรื่องที่สอง สมาชิกมีการพูดถึงคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ร่างพ.ร.บ.การศึกษา สิ่งสำคัญคือฝ่ายปฏิบัติหมายถึงกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะสามารถนำไปปฏิบัติได้ตรงตามกฏหมายหมายแม่บททางการศึกษานี้หรือไม่ เพราะเจตนากฏหมายแทบทุกฉบับดีอยู่แล้ว อยู่ที่ผู้ใช้จะทำได้หรือไม่