ข่าว

"แพทย์ชนบท" ลุยภูเก็ต ค้นหา ผู้ติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยว

"แพทย์ชนบท" ลุยภูเก็ต ค้นหา ผู้ติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นท่องเที่ยว

19 ก.ย. 2564

สธ.ระดม 9 ทีม "แพทย์ชนบท" เชิงรุก CCR Team จากเขตสุขภาพที่11-12 ค้นหาผู้ติดเชื้อใน จ.ภูเก็ต สร้างความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยว ตั้งเป้า 25,000 คน

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (รองปลัดสธ.)ให้สัมภาษณ์ว่าจากการที่รัฐบาลขับเคลื่อนโครงการนำร่องเพื่อรองรับการเปิดประเทศที่ จ.ภูเก็ตPhuket Sandbox เริ่มตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

โดยมีการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดรับนักท่องเที่ยวด้วยการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนในจังหวัดจนเกิดความครอบคลุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 

 

 

รวมถึงเตรียมมาตรการ ทางด้านสาธารณสุขรองรับเพื่อการเปิดเมืองอย่างปลอดภัย ถึงขณะนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 30,000 ราย ยังไม่พบการแพร่ระบาดในกลุ่มนักท่องเที่ยว พบเพียงผู้ติดเชื้อจากระบบคัดกรอง 96 ราย

อย่างไรก็ตาม จากรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ภูเก็ต ที่เพิ่มขึ้นวันละกว่า 200 กว่าราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติมาทำงาน เช่นในวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 242 ราย ในจำนวนนี้พบนักท่องเที่ยว 1 ราย 

 

 

กระทรวงสาธารณสุขไม่นิ่งเฉย ระดมสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบทในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 เป็นหน่วยเชิงรุกCCR Teamลงพื้นที่ค้นหาผู้ติดเชื้อ ในชุมชนที่พบคลัสเตอร์ใน จ.ภูเก็ต จำนวน 9 ทีม ด้วยวิธีการตรวจโดย ATK

 

 

ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้าดูแลรักษาตามระบบ รวมฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานและคนในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เร่งสร้างความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยวของประเทศ

นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่เชิงรุกของ CCR Team ครั้งนี้ ตั้งเป้าการตรวจจำนวน 25,000 คน ซึ่งหากพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จะนำเข้าระบบ Home Isolation รวมถึงจ่ายยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลตนเอง 

 

 

หรือหากมีอาการจะนำเข้ารักษาในโรงพยาบาลซึ่งยังมีเตียงทุกระดับเพียงพอในการดูแลผู้ติดเชื้อ โดยCCR Team ชุดนี้จะลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 23 กันยายน 2564 นอกจากนี้ได้จัดตั้ง

 

 

“คลินิกอุ่นใจ” ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตหลังใหม่ ให้บริการครบวงจร มีการตรวจยืนยันผู้ที่อาจติดเชื้อจากการตรวจ ATK ด้วยตนเองเข้าระบบการรักษา

 

 

มีเอกซเรย์เคลื่อนที่ และเปิดศูนย์ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือจำนวน 20 คู่สาย สำหรับให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะเร่งดําเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์