ข่าว

หญิงป่วยโรคร้าย "ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง" คลอดทารกสุขภาพแข็งแรง

หญิงป่วยโรคร้าย "ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง" คลอดทารกสุขภาพแข็งแรง

20 ก.ย. 2564

ทารกคนแรกจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ หลังผู้เป็นแม่ได้รับการ "ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง" มีสุขภาพแข็งแรงดีหลังจากลืมตาดูโลก

ผู้อำนวยการแผนกต่อมไร้ท่อของโรงพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาปักกิ่ง หร่วนเสียงเยี่ยน เผยถึงการ "ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง" ว่า หญิงแซ่หลี่ผู้เป็นแม่ ได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อรังไข่ส่วนหนึ่งแช่แข็ง ก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไขกระดูกในปี 2016

หลี่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคไขกระดูกเสื่อม (myelodysplastic) ในปี 2016 ขณะอายุ 29 ปี โดยโรคนี้มีวิธีรักษาแบบเดียว คือ ปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการทำงานของรังไข่ และเกือบร้อยละ 100 ของผู้ป่วยที่เข้ารักษาด้วยวิธีดังกล่าว พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ต่อมา หลี่ "ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง" ในปี 2018 เพื่อฟื้นฟูภาวะการเจริญพันธุ์ และเมื่อไม่นานนี้ เธอได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิง ซึ่งมีน้ำหนักตัว 3,345 กรัม และความสูง 49 เซนติเมตร โดยทารกคนดังกล่าวมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี

“เทคโนโลยีหลักของการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็งคือการเก็บรักษาด้วยความเย็น (cryopreservation)” หร่วน กล่าว

 

 

ทั้งนี้ โรคร้ายที่ต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการฉายรังสีและเคมีบำบัด ทำให้หญิงสาวและเด็กหลายล้านคนเผชิญความเสี่ยงภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควรในทุกปี

“ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเก็บรักษาเนื้อเยื่อรังไข่ด้วยความเย็นและการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่เป็นวิธีเดียวที่จะปกป้องและรักษาภาวะเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ไว้ได้” หร่วน กล่าว

หร่วนทิ้งท้ายว่าภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วยและการทำงานของรังไข่ ตามปกติสามารถยืดยาวนานได้ถึง 10 20 หรือ 30 ปี ผ่านการเก็บรักษาด้วยความเย็นและการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่

 

ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อรังไข่แช่แข็ง, โรคไขกระดูกเสื่อม, ปลูกถ่ายไขกระดูก

 

(แฟ้มภาพซินหัว : พยาบาลดูแลทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เมืองฉวี่จิ้ง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 12 พ.ค. 2021)