ตร.แจงชัด ๆ "กัญชา กัญชง ใบกระท่อม" แบบไหน ไม่ผิดกฎหมาย
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจงกฎหมาย "กัญชา กัญชง กระท่อม" หลังส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ ต่างกันอย่างไร เสพแบบไหน ไม่ผิดกฎหมาย
21 ก.ย.64 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญกฎหมายใหม่เกี่ยวกับ กัญชา กัญชง และกระท่อม ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของรัฐบาลแต่การใช้ประโยชน์จากพืชทั้งสามชนิดนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการ
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์กับประชาชนผู้บริโภคที่จะนำไปใช้ได้แต่ด้านที่เกิดประโยชน์ของพืชแต่ละชนิด ปัจจุบันกัญชา กัญชง ยังคงถูกควบคุมเป็นยาเสพติดอยู่ โดยในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ ที่ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยแยกกัญชงออกจากกัญชา เพื่อลดระดับการควบคุมกัญชาและกัญชง ให้สามารถนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมและทางการแพทย์ได้
ตามประกาศนี้ สิ่งที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ มีเพียงช่อดอกของกัญชงและกัญชา และเมล็ดกัญชา ส่วนเมล็ดกัญชง ใบจริง กิ่งก้าน ราก เปลือก ลำต้น เส้นใย กากจากการสกัดไม่ถือเป็นยาเสพติด สารสกัด CBD หรือน้ำมันกัญชา ที่มีค่า THC ไม่เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถือเป็นยาเสพติดเช่นกัน
แต่เงื่อนไขสำคัญ คือพืชกัญชาและกัญชง ที่จะไม่ถือว่าส่วนต่างๆ เป็นยาเสพติดนั้น ต้องได้รับอนุญาตให้ปลูกอย่างถูกต้องในประเทศ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 เพราะฉะนั้นท่านจะใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาจากกัญชา กัญชงได้ ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตให้ผลิตขึ้นมาอย่างถูกต้องหรือไม่ เช่นใบกัญชา กิ่งก้าน เส้นใย ตรวจดูจากสำเนาใบอนุญาต ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย น้ำมันกัญชาตรวจดูเครื่องหมายทะเบียนยาของกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์ทางยาท่านจะต้องมีใบรับรองของแพทย์ให้ใช้เพื่อรักษาโรคเท่านั้น การสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หรือยาที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง จากต่างประเทศ ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายทั้งหมด การปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
สำหรับ พืชกระท่อม ได้ถูกยกเลิกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 ที่ผ่านมา สามารถใช้ด้วยการเคี้ยวใบ การต้มทำน้ำกระท่อมหรือชากระท่อมดื่มได้ตามวิถีท้องถิ่น แต่ยังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 424/2564 ซึ่งยังห้ามใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมของอาหาร จึงยังไม่สามารถนำมาประกอบอาหารหรือต้มน้ำกระท่อมขายในเชิงอุตสาหกรรมได้ เพราะยังเป็นความผิดตามกฎหมายอาหารและยาอยู่
ส่วนร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 มีแนวทางการควบคุมที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อม แต่ยังไม่ออกมาใช้บังคับ ในช่วงนี้ขอให้บิดา มารดา ผู้ปกครอง ช่วยดูแลตักเตือนอย่าให้เด็กและเยาวชนใช้พืชกระท่อมหรือน้ำกระท่อมเพราะอาจมีผลต่อจิตประสาทได้ จนกว่าจะมีกฎหมายเฉพาะออกมาใช้บังคับ ซึ่งคงจะออกมาในอีกไม่นานนี้
อ่านข่าวที่น่าสนใจ
- "ป.ป.ส." แจง ศูนย์บำบัด "วัดท่าพุฯ" ควบคุมดูแลโดยสาธารณสุข
- แก๊ง "ผู้กำกับโจ้" ขอแจงใน 15 วัน หลัง จตช. แจ้งผิดวินัยร้ายแรง ถึงในเรือนจำ
- "เช็คสิทธิประกันสังคม" มาตรา 40 สีแดง หมั่นอัปเดตสถานะทุกวันจนถึง 28 กันยายน
- อัยการ ฟ้อง "ม็อบปลดแอก" ศาลนัดตรวจหลักฐาน 1 พ.ย.นี้
- คุมมวลชน ทำปชช.เดือดร้อน "สนธิญา" ร้อง ผบช.น. เอาผิดแกนนำ "คาร์ม็อบ 19 กันยา"