ข่าว

ร้านอาหารเฮ จุรินทร์ดัน "จับคู่กู้เงิน" เข้าถึงแหล่งเงินทุนสู้วิกฤตโควิด

ร้านอาหารเฮ จุรินทร์ดัน "จับคู่กู้เงิน" เข้าถึงแหล่งเงินทุนสู้วิกฤตโควิด

22 ก.ย. 2564

“จุรินทร์" ลุย"จับคู่กู้เงิน" คลายทุกข์ SMEs ประกาศแผนรัฐบาลฝ่าโควิด-19 ช่วยผู้ประกอบการ ร้านอาหาร-ส่งออก 

เมื่อวันที่  22 ก.ย. 64 "นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษงาน Virtual Seminar “จับคู่กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” ของฐานเศรษฐกิจ ผ่านระบบ Zoom ณ สตูดิโอเนชั่น บางนา อาคารอินเตอร์ลิงค์ กรุงเทพฯ โดยมีนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

 

ร้านอาหารเฮ จุรินทร์ดัน \"จับคู่กู้เงิน\" เข้าถึงแหล่งเงินทุนสู้วิกฤตโควิด

 

นอกจากนั้นในเวทีเสวนายังมีดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย นายกุลวัชร ภูริชยวโรดมประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โชนัน จำกัด

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โครงการจับคู่กู้เงินที่กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันการเงินได้จับมือกันจัดขึ้นและตนเป็นคนตั้งชื่อเองโครงการ”จับคู่กู้เงิน” ทำให้เข้าใจง่ายตรงประเด็น ตรงความต้องการของ SMEs ทั่วประเทศ เพราะช่วงที่ผ่านมาที่เราเกิดวิกฤติโควิด-19 ปัญหาใหญ่คือร้านอาหารจำนวนมากขาดเงินหมุนเวียนเพื่อประกอบธุรกิจร้านอาหารได้ต่อไป และ SMEs ส่งออกก็ต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐ

 

ร้านอาหารเฮ จุรินทร์ดัน \"จับคู่กู้เงิน\" เข้าถึงแหล่งเงินทุนสู้วิกฤตโควิด

 

นอกจากเงินทุนหมุนเวียนและต้องการเห็นภาครัฐเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การตลาด โดยเฉพาะการต้องปรับตัวเข้าสู่โลก ยุค New Normal โครงการจับคู่กู้เงิน 2 โครงการจึงเกิดขึ้น 1.โครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับร้านอาหาร 2.โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก

 

สำหรับโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหารต้องขอขอบคุณสถาบันการเงิน 5 แห่ง 1.ออมสิน 2.ธ.ก.ส. 3.กรุงไทย 4. SME D Bank และ 5 บสย. ตัวเลขร้านอาหารทั่วประเทศที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีจำนวน 15,967 ราย แต่ที่เป็นบุคคลธรรมดา ถึง 103,000 รายรวมร้านอาหารที่จดทะเบียนทั่วประเทศมีถึง 118,967 ราย เกิดการจ้างงานถึง 1,000,000 คน

 

ร้านอาหารเฮ จุรินทร์ดัน \"จับคู่กู้เงิน\" เข้าถึงแหล่งเงินทุนสู้วิกฤตโควิด

 

โดยประเมิน โครงการจับคู่กู้เงิน วัตถุประสงค์สำคัญต้องการให้ร้านอาหารเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยเงื่อนไขดอกเบี้ยพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้และผลจนถึงวันนี้ปิดโครงการแล้ว สามารถให้ 5 สถาบันการเงิน ปล่อยเงินกู้ให้ร้านอาหารได้ถึง 2,892 ราย เป็นวงเงิน 2,622 ล้านบาท เฉลี่ย 700,000 บาทถึง 1,000,000 บาทต่อราย สามารถช่วยคนตัวเล็กได้จริง เพราะในวงเงินทั้งหมดที่ปล่อยกู้เป็นสตรีทฟู้ดหรือร้านอาหารริมถนนรายย่อยถึง 73% จำนวน 2,111 ราย วงเงินกู้ 1,914 ล้านบาท ร้านอาหารจำนวนมาก 5 ลำดับแรกอยู่ในต่างจังหวัด ทั้งสิ้น 1.อุดรธานี 465 ราย 763 ล้านบาท 2.ขอนแก่น 171 ราย 288.3 ล้านบาท 3.นครราชสีมา 323 ราย 239 ล้านบาท 4.ภูเก็ต 45 ราย 21 ล้านบาท และ 5.เชียงใหม่ 5 ราย 2.7  ล้านบาท ซึ่งช่วยคนตัวเล็กในต่างจังหวัดด้วยถือว่าบรรลุเป้าหมายทั้งหมดตามที่ได้ตั้งไว้

 

และโครงการที่ 2 จับคู่กู้เงินสถาบันการเงิน กับ SMEs ส่งออก ประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3,100,000 ราย เป็น SMEs ส่งออกประมาณ 30,000 ราย คือเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กับสถาบันการเงินโดยเฉพาะ EXIM Bank จับมือกับกระทรวงพาณิชย์จัดโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก เป็นสถาบันการเงินหลักร่วมกับ บสย.ในยอดส่งออกรวม 100% ยอดส่งออกที่เป็น SMEs มาร์เก็ตแชร์  11% ถือว่าน้อยมากทั้งที่มีปริมาณมาก เป็นกลุ่มที่รัฐต้องเข้าไปช่วยดูแลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ต้น รับหน้าที่ได้ช่วยดูแล SMEs ในหลายเรื่อง คือ 

 

1.จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อจับมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเอกชนทำงานร่วมกันเพราะเรื่องการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ทำงานโดยลำพังหรือรัฐบาลทำโดยลำพังไม่ได้เอกชนต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ

 

ภาคเอกชนที่เข้ามาประกอบด้วย 1.สมาคมธนาคารไทย 2.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 4.สมาพันธ์ผู้ส่งสินค้าทางเรือ แต่เรายังขาดตัวแทนที่เป็นเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ จากนี้ไปเราจะนำสมาพันธ์ SMEs เข้ามาร่วมเป็น กรอ.พาณิชย์ เพื่อช่วยสะท้อนปัญหาจับมือเดินไปข้างหน้าต่อไป

 

2.เน้น SMEs ในต่างจังหวัดสร้างผลิตผล มูลค่าสูง ทำรายได้ให้กับภาคการผลิตและการส่งออก ส่งเสริมให้ภาคการผลิตจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ในเรื่อง GI ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ไข่เค็มไชยา ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เป็นต้น ตอนนี้เรามี GI ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และได้นำไปกล่าวในเวทีทรัพย์สินทางปัญญาโลกเมื่อวันที่ 20 ที่ผ่านมาเพื่อโฆษณาว่าประเทศไทยเราก้าวหน้ามี GI 100 กว่าตัวครบทุกจังหวัดทำให้ได้รับการเลื่อนอันดับจาก 50 กว่าเป็นลำดับที่ 43 ของโลกในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

 

3.มุ่งเน้นการเปิดด่านเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน เรามีด่านอยู่ทั่วประเทศ 97 ด่าน ไล่เปิดจาก 20 กว่าด่านเพราะเจอโควิดปิดเกือบหมด เพิ่มมาเปิดเป็น 46 ด่าน ซึ่งผู้ที่จะค้าชายแดน เป็น SMEs เกือบ 90 กว่าเปอร์เซนต์

 

4.การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในต่างประเทศ ให้จัดพื้นที่พิเศษกับ SMEs เช่น 10 ถึง 15% ซึ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนโควิดไปแสดงที่กัมพูชา มีการอบรมก่อนเพื่อให้เข้าใจกระบวนการส่งออก 

 

5.เร่งส่งเสริมภาคบริการยุคใหม่ ทั้งเรื่องคอนเทนท์ การส่งเสริมภาคบริการสุขภาพการบริการด้านการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยว ดึงนักศึกษาเข้ามาในประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ต่างๆที่เดินหน้าเป็นรูปธรรม ต้องนับหนึ่งจากคนตัวเล็กที่เรียกว่า SMEs หรือสตาร์ทอัพ

 

6. สร้างแม่ทัพบุกตลาดในประเทศและตลาดโลกรุ่นใหม่ ในการเข้ามาทำรายได้ให้ประเทศ เป็นที่มาของโครงการปั้น Gen Z เป็น CEOจับมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจัดการอบรมตั้งเป้าหมาย 12,000 คนในปี 2564 แต่มีผู้สมัคร 20,000 คน ซี่งจะรับทั้งหมด เป็นวิชาอบรมให้ความรู้บริหารอบรมธุรกิจยุคใหม่ การทำบัญชีการค้า จนถึงภาคการผลิตโดยใช้ระบบ 5G การตลาด 5G และกระบวนการส่งออกเบื้องต้นและส่งออกเข้มข้น เพื่อเดินหน้าการส่งออก เป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการ

 

" ในภาพของรัฐบาลมีคณะกรรมการที่เรียกว่าคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEsและในปี 2565 จะเอาเงินให้กับกองทุนส่งเสริม SMEs 1,224 ล้านบาท เมื่อรวมผลงานของโครงการจับคู่กู้เงิน 2 โครงการ 1.ร้านอาหาร 2.SMEsส่งออกที่ยังเดินหน้าต่อโครงการที่ 1 สามารถช่วยได้ 2,892 รายเป็นเงิน 2,622 ล้านบาท โครงการ 2 ช่วยได้ 252 ราย เป็นเงิน 1,600 ล้านบาท รวมทั้ง 2 โครงการ สามารถช่วยได้ 3,144 ราย เป็นเงิน 4,222 ล้านบาท และที่สำคัญ สามารถช่วยคนตัวเล็กจริง ช่วยร้านอาหารสตรีทฟู้ด ร้านอาหารรายย่อยได้ 2,111 ราย 1,900 กว่าล้านบาทและกระจายไปยังต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ กระจายไปภาคการผลิตต่างๆไม่ว่าสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร ภาคการเกษตร การสื่อสารและโลจิสติกส์ เป็นต้น หวังว่า SMEs ส่งออกจะได้มาใช้ประโยชน์ในโครงการจับคู่กู้เงินสถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออกต่อไป" นายจุรินทร์ กล่าว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง