ข่าว

"กายสิทธิ์"เปิดใจปม "ก.อ." มติสอบวินัยร้ายแรง "เนตร" ห่วง "อัยการ" เสียขวัญ

"กายสิทธิ์"เปิดใจปม "ก.อ." มติสอบวินัยร้ายแรง "เนตร" ห่วง "อัยการ" เสียขวัญ

22 ก.ย. 2564

อดีตประธาน กรรมการสอบ "เนตร นาคสุข" กรณีสั่งไม่ฟ้อง "บอส วรยุทธ" เปิดใจหลัง ก.อ. มีมติกลับ สั่งสอบวินัยร้ายแรง ชี้ ตามข้อกฎหมายเป็นคดีรถชนธรรมดา แต่เพราะเป็น "อยู่วิทยา" จึงเป็นเรื่องใหญ่ หวั่น "อัยการ" ทำคดีเสียขวัญ พร้อมเข้าให้การต่อ ป.ป.ช.

22 ก.ย.2564   นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ กรรมการอัยการ ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น นายเนตร นาคสุข กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา เปิดเผยว่า คณะทำงานของตน มีความเห็นในครั้งแรก ว่า นายเนตร  ผิดวินัยไม่ร้ายแรง  เพราะว่าเห็นว่าคดีนี้ แม้สั่งไม่ฟ้อง แต่คดียังไม่เสร็จเด็ดขาด ยังสามารถยื่นฟ้องนายวรยุทธ เป็นจำเลยต่อศาลได้อยู่ดีมันยังแก้ไขได้ 

 

นายกายสิทธิ์  กล่าวอีกว่า ตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ก.อ. เนื่องจากมีส่วนได้เสีย และกรรมการอัยการทั้ง 9 คน มีมติเอกฉันท์ให้เป็นผิดวินัยร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการมาตรา 85 คือมองว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ที่ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดเสียหายร้ายแรง และเกิดผลกระทบต่อองค์กร มีผลตอบกลับเกิดขึ้นติดตามมามากมาย เรื่องนี้คณะกรรมการอัยการได้โต้เถียงกันมาก

 

 

นายกายสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อครั้งที่พิจารณาเรื่องนี้ไม่พบหลักฐานการทุจริต  แต่เป็นการกระทำโดยไม่รอบคอบไม่ถี่ถ้วนเพราะ แม้ อัยการ จะมีดุลพินิจเป็นอิสระ แต่ก็ต้องตรวจดูสำนวนให้ครบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นายเนตร  ดูไม่ครบถ้วนทั้งหน้าทั้งหลัง และนายเนตร ก็มาให้การยืนยันว่า สั่งไปตามที่เขาเชื่อ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของตนเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีขับรถชนคนตายธรรมดา แต่นามสกุลของผู้ต้องหาเป็นนามสกุล "อยู่วิทยา"  มันเลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ ในส่วนตนจะไม่มองว่า คดีขับรถชนคนตายจะต้องเป็นคดีที่มีความพิเศษอย่างไร แต่ตนจะมองที่พยานหลักฐานและข้อกฎหมายแต่เมื่อที่ประชุม ก.อ. มองเห็นต่างไปจากตน ก็เป็นเรื่องของนักกฎหมายมองเห็น ต่างกัน เราไม่ว่ากัน และยอมรับในมติของ ก.อ.


ส่วนที่เรื่องนี้จะกระทบต่อองค์กร อัยการ หรือไม่  นายกายสิทธิ์ เปิดเผยว่า ก็มีกระแสความคิดจาก น้อง ๆอัยการ ว่า เมื่อคณะกรรมการอัยการมีความเห็นว่า อัยการคนหนึ่งสั่งคดีโดยประมาท สั่งคดีผิดพลาด จะมีผลไปถึงต้องถูกสอบวินัยร้ายแรงทุกคน มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปนี้ หาก อัยการ คนไหน ลืมสั่งริบของกลาง หรือลืมฝากขัง หรือทำคดีขาดฟ้อง ทำคดีขาดอายุความ ก็จะถูกลงโทษวินัยร้ายแรงกันไปหมด  ซึ่งเกรงว่าอัยการ ทั่วประเทศจะผวา ต่อไป อัยการ ที่ดูแลคดีอาญา ก็จะหนีไปอยู่สำนักงานอื่นๆ ที่ไม่ต้องรับผิดชอบ คือหนีกันไปหมด   ตนเห็นว่า  อัยการ จะสั่งคดีตามกระแสไม่ได้ เราต้องมีหลัก  ซึ่งเรื่องนี้ตนจะนำไปหารือนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุดคนใหม่เพื่อหาทางแก้ไข ไม่เช่นนั้น สถาบันอัยการ จะปั่นป่วนไปหมด มันมีผลต่อขวัญและกำลังใจของอัยการ

"เมื่อวานนี้ในที่ประชุม นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับกรณีของนายเนตรเลย และท่านได้งดออกเสียง และก็ได้ยื่นใบลาออกจากอาวุโสไปแล้วมีผลวันที่ 1 ตุลาคม”

ส่วนกรณีที่นายวงศ์สกุล ลาออกจะมีผลทางเทคนิคอย่างไร  นายกายสิทธิ์ ระบุว่า  การลาออกดังกล่าว หากต่อไปมีการร้องเรียนและถูกลงโทษวินัยร้ายแรง มันก็จะมีผลติดตัวไป แม้ลาออกไปก็ไม่สามารถหนีโทษวินัยร้ายแรงได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการถูกร้องเรียนและมีการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง มันก็สามารถงดโทษได้ แต่ข้อเท็จจริงจนบัดนี้ยังไม่มีใครร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำของนายวงศ์สกุลไม่ว่าจะเรื่องใดตอนนี้ไม่เห็น


ส่วนกรณีที่ นายกายสิทธิ์ ต้องไปให้การกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ นั้น นายกายสิทธิ์  กล่าวว่า คดีของนายเนตร ในชั้น ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการสอบสวน ยังไม่ชี้มูลความผิดซึ่งเขาสามารถเรียกเอกสารของตนไปประกอบการพิจารณาได้  ซึ่งหากมีการเรียกตนก็พร้อมแต่คงจะเรียกแค่เอกสารมากกว่า 

 

 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ